Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของเจตคติตราบาปที่มีต่อโรคซึมเศร้า และผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ในการทำนายพฤติกรรมการช่วยเหลือ และระยะห่างทางสังคม ซึ่งมีการเข้าใจอย่างร่วมรู้สึกเป็นตัวแปรส่งผ่าน กลุ่มผู้วิจัยได้ศึกษาในกลุ่มนิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันอุดมศึกษาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยศึกษาเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มนิสิตนักศึกษาสาขาจิตวิทยาที่ผ่านการเรียนวิชาเกี่ยวกับจิตวิทยาอปกติ และกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ไม่เคยผ่านการเรียนวิชาดังกล่าวมาก่อน จำนวนกลุ่มละ 192 คน รวมทั้งสิ้น 384 คน การวิจัยครั้งนี้ทำการเก็บข้อมูลจากการใช้แบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป และมาตรวัด จำนวน 5 มาตร เพื่อวัดความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เจตคติตราบาปต่อโรคซึมเศร้า การเข้าใจอย่างร่วมรู้สึก ระยะห่างทางสังคม และพฤติกรรมช่วยเหลือ ผลการศึกษาพบว่า 1) ไม่พบสหสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและเจตคติตราบาป กล่าวคือระดับเจตคติตราบาปต่อโรคซึมเศร้าในนิสิตนักศึกษาที่ผ่านการเรียนรายวิชาที่เกี่ยวกับจิตวิทยาอปกติและนิสิตนักศึกษาที่ไม่เคยผ่านการเรียนรายวิชาที่เกี่ยวกับจิตวิทยาอปกติ มีระดับไม่ต่างกัน 2) เจตคติตราบาปมีความสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวกต่อระยะห่างทางสังคม โดยเจตคติตราบาปมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางลบต่อการเข้าใจอย่างร่วมรู้สึก และการเข้าใจอย่างร่วมรู้สึกมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางลบต่อระยะห่างทางสังคม อีกทั้งพบผลของอิทธิพลทางอ้อมของเจตคติตราบาปต่อระยะห่างทางสังคมโดยมีการเข้าใจอย่างร่วมรู้สึกเป็นตัวแปรส่งผ่านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3) การเข้าใจอย่างร่วมรู้สึกมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงทางบวกต่อพฤติกรรมช่วยเหลือ แต่ไม่พบว่าเจตคติตราบาปมีสหสัมพันธ์เชิงเส้นตรงต่อพฤติกรรมช่วยเหลือ และการเข้าใจอย่างร่วมรู้สึกไม่มีอิทธิพลส่งผ่านระหว่างเจตคติตราบาปและพฤติกรรมช่วยเหลือ และ 4) ความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าและผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่มีอิทธิพลกำกับต่อความสัมพันธ์ระหว่างเจตคติตราบาปต่อการเข้าใจอย่างร่วมรู้สึก และไม่มีอิทธิพลกำกับต่อความสัมพันธ์ระหว่างเจตคติตราบาปต่อระยะห่างทางสังคม แต่มีอิทธิพลกำกับทางลบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเจตคติตราบาปต่อพฤติกรรมการช่วยเหลือ
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016