Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความว้าเหว่ การกำกับอารมณ์ด้านการประเมินความคิดใหม่ การกำกับอารมณ์ด้านการยับยั้งการตอบสนอง การสนับสนุนทางสังคม และปัญหาทางด้านจิตใจ (ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล และความเครียด) ในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีกลุ่มตัวอย่างจำนวน 150 คน ที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบวัดความว้าเหว่ แบบวัดการกำกับอารมณ์ แบบวัดการสนับสนุนทางสังคม และแบบวัดปัญหาทางด้านจิตใจ ซึ่งใช้โปรแกรม SPSS for Windows Version 22 วิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐาน วิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้มีอายุเฉลี่ย 61.77±1.6 ปี ผลจากการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สันระหว่างตัวแปรแต่ละตัว พบว่า ตัวแปรความว้าเหว่มีความสัมพันธ์กับตัวแปรปัญหาทางด้านจิตใจ เท่ากับ .32** (p < .01) และตัวแปรการสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์กับตัวแปรปัญหาทางด้านจิตใจ เท่ากับ -.22 ** (p < .01) ผลจากการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณพบว่า ความว้าเหว่ การกำกับอารมณ์ด้านการประเมินความคิดใหม่ การกำกับอารมณ์ด้านการยับยั้งการตอบสนอง และการสนับสนุนทางสังคมร่วมกันทำนายปัญหาทางด้านจิตใจได้ร้อยละ 11.8 (p < .001) โดยมีเพียงตัวแปรความว้าเหว่ที่สามารถทำนายปัญหาทางด้านจิตใจได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (β = .28, p < .05) ส่วนการกำกับอารมณ์ด้านการประเมินความคิดใหม่ การกำกับอารมณ์ด้านการยับยั้งการตอบสนอง และการสนับสนุนทางสังคมไม่สามารถทำนายปัญหาทางจิตใจได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016