Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหาปัจจัยในการทำนายพฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่ของกลุ่มชายวัยทำงาน จากแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Beliefs Model; Rosenstock, 1974) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ เพศชาย วัยทำงาน อายุระหว่าง 25-59 ปี ที่อาศัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 175 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การถดถอยพหุคูณแบบปกติ (Enter Multiple Regression) ผลการวิจัยพบว่า การรับรู้ความรุนแรงของโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ การรับรู้โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ การรับรู้ประโยชน์ของการเลิกสูบบุหรี่ และการรับรู้ความสามารถของตนในการเลิกสูบบุหรี่ สามารถอธิบายความแปรปรวนของความตั้งใจที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ร้อยละ 15.5 (p<.001) โดยการรับรู้ความรุนแรงของโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ (β =.297) การรับรู้ประโยชน์ของการเลิกสูบบุหรี่ (β =.251) และการรับรู้ความสามารถของตนในการเลิกสูบบุหรี่ (β =.172) มีอิทธิพลในการทำนายความตั้งใจที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนการรับรู้โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ไม่มีอิทธิพลในการทำนายความตั้งใจที่จะเลิกสูบบุหรี่
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016