Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้โอกาสเสี่ยง การรับรู้ประโยชน์ การรับรู้อุปสรรค และการรับรู้ความสามารถของตนเอง กับพฤติกรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ตามแนวคิดแบบแผนความเชื่อด้านสุขภาพ (Health Belief Model) Rosenstock (1974) กลุ่มตัวอย่างคือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น อายุระหว่าง 18-30 ปี จำนวน 120 คน เครื่องมือที่ใช้วิจัยคือมาตรวัดการรับรู้โอกาสเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหากไม่คาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ มาตรวัดการรับรู้ประโยชน์ในการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ มาตรวัดการรับรู้อุปสรรคในการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ มาตรวัดการรับรู้ความสามารถของตนเองในการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ และมาตรวัดความตั้งใจในการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ วิเคราะห์ผลโดยใช้สถิติวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบปกติ (Multiple Regression Analysis: Enter Method) ผลการวิจัยพบว่า ตัวแปรทุกตัวสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับรถยนต์ได้ 31.7% โดยการรับรู้ความสามารถของตนเองมีน้ำหนักในการทำนายพฤติกรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยมากที่สุด (β = .292, p<.05) รองลงมาคือการรับรู้โอกาสเสี่ยง (β = .273, p<.05) ส่วนการรับรู้ประโยชน์ และการรับรู้อุปสรรค ไม่สามารถทำนายพฤติกรรมการคาดเข็มขัดนิรภัยได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016