Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสถานภาพทางอาชีพหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เศรษฐานะทางสังคม และความคาดหวังของพ่อแม่ต่อการรับรู้การเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่ม ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างอายุ 22-30 ปี ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว จำนวน 526 คน แบ่งเป็น 4 สภานภาพทางอาชีพ ได้แก่ เรียนเต็มเวลา 145 คน เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย 102 คน ทำงานเต็มเวลา 224 คน และว่างงาน 55 คน โดยผู้เข้าร่วมการวิจัยได้ตอบมาตรวัดการรับรู้การเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่ม มาตรวัดความคาดหวังของพ่อแม่ และมาตรวัดเศรษฐานะทางสังคม ตามลำดับ การเก็บข้อมูลใช้การเก็บผ่านแบบสอบถามออนไลน์โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างตามสะดวก ผลการศึกษาพบว่าผู้ที่เรียนเต็มเวลามีแนวโน้มที่จะรับรู้ว่าตนเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่มมากกว่าผู้ที่ทำงานเต็มเวลาในด้านของมุ่งสำรวจความเป็นไปได้ของตนเอง (p = .034) ทางด้านเศรษฐานะทางสังคม พบว่าผู้ที่มีเศรษฐานะอยู่ในระดับสูงจะมีการรับรู้การเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่มในด้านมุ่งสำรวจความเป็นไปได้ของตนเองสูง (β = 0.232, p < .05) ในขณะที่มีการรับรู้ในด้านความรู้สึกไม่มั่นคงต่ำ (β = -0.256, p < .05) สุดท้าย คือ ความคาดหวังของพ่อแม่ พบว่าผู้ที่รับรู้ความทะเยอทะยานของพ่อแม่สูง จะรับรู้การเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่มในด้านมุ่งสำรวจความเป็นไปได้ของตนเองต่ำ (β = -.225, p < .05) ในทางกลับกัน หากรับรู้ว่าพ่อแม่มีความคาดหวังทางการเรียนสูงจะรับรู้การเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่มในด้านมุ่งสำรวจความเป็นไปได้ของตนเองสูงเช่นกัน (β = .239, p < .05) อย่างไรก็ตาม หากบุคคลมีการรับรู้ความคาดหวังของพ่อแม่ทางอาชีพสูงจะรับรู้การเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่มในด้านความรู้สึกก้ำกึ่งในอัตลักษณ์ของตนเองสูง (β = .169, p < .05) ส่วนผู้ที่รับรู้ความทะเยอทะยานของพ่อแม่ (β = .131, p < .05) และความคาดหวังของพ่อแม่ทางอาชีพที่สูง (β = .239, p < .05) จะรับรู้การเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่มด้านความรู้สึกไม่มั่นคงสูง ในทางตรงกันข้ามหากรับรู้ความคาดหวังของพ่อแม่ทางการเรียนสูง บุคคลจะรับรู้การเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่มด้านความรู้สึกไม่มั่นคงต่ำ (β = -.220, p < .05) กล่าวได้ว่า ปัจจัยต่าง ๆ มีความเกี่ยวข้องกับการประเมินการรับรู้การเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่มของบุคคล ทั้งเศรษฐานะทางสังคม และความคาดหวังของพ่อแม่ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งการอยู่ในช่วงผู้ใหญ่วัยเริ่มเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากได้สำรวจความชอบและพัฒนาความสามารถ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นผู้ใหญ่ตอนต้น อย่างไรก็ตาม หากบุคคลตกอยู่ในช่วงนี้นานเกินไป อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตของตัวบุคคล ทั้งความล้มเหลวในการค้นหาอัตลักษณ์ และไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบชีวิตของตนเอง
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016