Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของการปั้นงานและความเพลินในงาน โดยมีความสอดคล้องระหว่างคนกับงานเป็นตัวแปรส่งผ่าน โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ พนักงานจำนวน 203 คน จากหลากหลายองค์กรในประเทศไทย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยนี้คือ มาตรวัดความเพลินในงาน มาตรวัดความสอดคล้องระหว่างคนกับงาน และมาตรวัดการปั้นงาน จากการวิเคราะห์อิทธิพลส่งผ่านโดยโปรแกรม PROCESS Procedure for SPSS ผลการศึกษาพบว่า: การปั้นงานทั้ง 4 รูปแบบ (การเพิ่มทรัพยากรในงานด้านโครงสร้าง, การลดข้อเรียกร้องที่ขัดขวางการทำงาน, การเพิ่มทรัพยากรในงานด้านสังคม และการเพิ่มข้อเรียกร้องด้านความท้าทาย) มีอิทธิพลทางบวกต่อความสอดคล้องระหว่างคนกับงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 การปั้นงานทั้ง 4 รูปแบบ มีอิทธิพลทางบวกต่อความเพลินในงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ความสอดคล้องระหว่างคนกับงานมีอิทธิพลทางบวกกับการเกิดความเพลินในงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ความสอดคล้องระหว่างคนกับงานเป็นตัวแปรส่งผ่านอิทธิพลของการปั้นงานทั้ง 4 รูปแบบไปยังความเพลินในงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001
Description:
โครงงานทางจิตวิทยานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2559
A senior project submitted in partial fulfillment of the requirements for the Degree of Bachelor of Science in Psychology, Faculty of Psychology, Chulalongkorn University, Academic year 2016