Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงหน้าที่ทางวากยสัมพันธ์ของมัศดัรโครงคำและมัศดัรกลุ่มคำตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 1876-2011) (2) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงการปรากฏร่วมกับประเภททางอรรถศาสตร์ของคำกริยาที่เกิดร่วมด้วยของมัศดัรทั้ง 2 แบบ ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงปัจจุบัน (ค.ศ. 1876-2011) และ (3) ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ด้านความแปลกเด่นของมัศดัรโครงคำและมัศดัรกลุ่มคำทั้ง 2 ประเภทแบบข้ามสมัยโดยใช้แนวทางการศึกษาแบบเน้นการแปร ศึกษาความแปลกเด่นด้านการใช้ของมัศดัรโครงคำและมัศดัรกลุ่มคำที่นำหน้าโดยหน่วยคำ an และ anna ในภาษาอาหรับมาตรฐานสมัยใหม่ซึ่งทราบได้จากความถี่ในการปรากฏ ผลการศึกษาในด้านวากยสัมพันธ์พบว่ามัศดัรทั้ง 3 แบบปรากฏร่วมกันในตำแหน่งประธาน กรรม หลังคำบุพบท ส่วนเติมเต็มประธาน และสัมพันธการก โดยมีเพียงตำแหน่งกรรมและหลังคำบุพบทเท่านั้นที่มัศดัรทั้ง 3 แบบปรากฏครบ 7 ช่วงระยะเวลา ในด้านประเภททางอรรถศาสตร์ของกริยาพบว่ามัศดัรทั้ง 3 แบบปรากฏร่วมกันในกริยากลุ่มแสดงการสื่อสารและคำพูด กริยาแสดงความต้องการและความหวัง กริยาแสดงทัศนะภาวะ กริยาแสดงความคิดและการรับรู้ กริยาแสดงสถานะ กริยาแสดงการกระทำ และสัมพันธกริยาโดยมีเพียงมัศดัรโครงคำเท่านั้นที่ปรากฏได้กับทุกกลุ่มกริยาครบทั้ง 7 ช่วงระยะเวลา นอกจากนี้ยังพบว่ามัศดัรกลุ่มคำประเภทที่ 2 มีสัดส่วนในการปรากฏกับกริยาแสดงการสื่อสารและคำพูดมากขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ 4-7 อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ด้านความแปลกเด่นในภาพรวมพบว่ามัศดัรโครงคำมีลักษณะที่ไม่แปลกเด่น โดยปรากฏมากกว่ามัศดัรกลุ่มคำทั้ง 2 ประเภททุกช่วงระยะเวลา และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา ในขณะที่มัศดัรกลุ่มคำทั้ง 2 ประเภทมีลักษณะที่แปลกเด่น โดยมัศดัรโครงคำประเภทที่ 1 มีแนวโน้มลดลง และมัศดัรโครงคำประเภทที่ 2 มีแนวโน้มคงที่