Abstract:
งานวิจัยเรื่องเทศน์มหาชาติล้านนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบริบทที่เกี่ยวข้องกับประเพณีเทศน์มหาชาติในวัฒนธรรมล้านนาและเพื่อศึกษาวิเคราะห์ทำนองการเทศน์มหาชาติล้านนาโดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพเก็บข้อมูลภาคสนามในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๖ ร่วมกับการสัมภาษณ์พระนักเทศน์ชาวล้านนาทั้งหมด ๑๑ รูป การวิจัยบริบทที่เกี่ยวข้องพบว่าชาวล้านนานิยมจัดเทศน์มหาชาติในเดือนอ้ายไปจนถึงเดือนสี่ซึ่งชาวล้านนามีชื่อเรียกประเพณีนี้ว่าตั้งธรรมหลวง เนื้อหาเทศน์มหาชาติแสดงทศบารมีของพระเวสสันดรซึ่งเป็นพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ด้วยความเชื่อเรื่องอานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาติประเพณีนี้ยังคงมีความสำคัญในสังคมล้านนามาแต่ช้านาน จุดมุ่งหมายสูงสุดของการเข้าร่วมประเพณีจึงเป็นไปเพื่อการซาบซึ้งในรสพระธรรมและเพื่อรับอานิสงส์จากการฟังธรรม เป้าหมายรองคือการสร้างความสามัคคีและความร่วมมือร่วมใจกันในชุมชน ประเพณีการเทศน์มหาชาติของชาวล้านนามีเอกลักษณ์เฉพาะคือมีการสืบชะตา นอกเหนือไปจากความเพลิดเพลินใจจากการฟังทำนองเทศน์ที่ไพเราะจากพระนักเทศน์ที่มีกระแสเสียงดี ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเกิดรูปแบบการจัดงานเทศน์มหาชาติล้านนาในปัจจุบัน ๒ รูปแบบคือการเทศน์ประจำปีแบบดั้งเดิม และการจัดเทศน์มหาชาติแบบการสืบชะตาอายุ ผลการวิจัยพบว่าการใช้เสียงในเทศน์มหาชาติล้านนาเป็นความงามในพุทธศาสนาเพื่อสื่อสารความหมายและให้เกิดศรัทธาในธรรมของพระพุทธเจ้า เทศน์มหาชาติล้านนาเป็นการสวดของพระสงฆ์ครั้งละหนึ่งรูปซึ่งใช้ทำนองเฉพาะเรียกว่าระบำ จากการเก็บข้อมูลในพื้นที่พบว่ามี ๗ ทำนองที่ยังปรากฏใช้ในเทศน์มหาชาติคือทำนองธรรมวัตร ทำนองไก่สับด้ง ทำนองม้าย่ำไฟ ทำนองมะนาวล่องของ ทำนองน้ำตกตาด ทำนองหมาไต่คันนาและทำนองพร้าวไกวใบ ทำนองทั้ง ๗ ทำนองแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทคือทำนองที่ใช้ในการเทศน์ทั่วไป และทำนองที่ใช้ในการเทศน์มหาชาติเท่านั้น ทำนองธรรมวัตรและทำนองไก่สับด้งเป็นทำนองที่ใช้เดินธรรม สามารถนำมาใช้เป็นทำนองเทศน์ทั้งในงานประเพณีตั้งธรรมหลวงและการเทศน์ทั่วไป ส่วนทำนองอีก ๕ ทำนองใช้เฉพาะในประเพณีตั้งธรรมหลวงเท่านั้นและมีการจัดแบ่งหน้าที่ของทำนองเพื่อสื่อความหมายแตกต่างกันไป ลักษณะเฉพาะทางดุริยางคศิลป์ในเสียงเทศน์มหาชาติล้านนาคือ การใช้ลมหายใจยาว การใช้ทำนองเฉพาะในเทศน์มหาชาติเท่านั้น การใช้เสียงเอื้อนยืดเสียง การใช้กลุ่มเสียงอ้างอิง และการคัดเลือกพระนักเทศน์เพื่อแบ่งระดับเสียงตามคุณลักษณะเสียงของพระนักเทศน์