Abstract:
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเบื้องต้นเพื่อให้ได้ภาพรวมของการจัดช่วงชั้นทางสังคมของกรุงเทพมหานคร ความสนใจอยู่ที่ลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจของประชากรในแต่ละช่วงชั้น ความสัมพันธ์ภายในและระหว่างช่วงชั้น และการเลื่อนชั้นทางสังคม การจัดระเบียบช่วงชั้นทางสังคมของกรุงเทพมหานครแบ่งได้ออกเป็น3 ช่วงชั้น คือ ชั้นล่างได้แก่กลุ่มประชากรที่มีรายได้ไม่เกิน 4000 บาท มีการศึกษาจบประถม 4 เป็นส่วนใหญ่ ชั้นกลางได้แก่กลุ่มประชากรที่มีรายได้ระหว่าง 4000-10000 บาท มีการศึกษาปานกลาง และคนชั้นสูงได้แก่ผู้มีรายได้มากกว่า10000 บาทขึ้นไป ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 50.8 ของประชากรในกรุงเทพมหานครเป็นคนชั้นล่าง ร้อยละ 38.6 เป็นคนชั้นกลางและร้อยละ 10.6 เป็นคนชั้นสูง โดยทั่วไปคนชั้นสูงและชั้นกลางมีโอกาสในการเป็นเจ้าของสิ่งต่างๆ เช่นที่อยู่อาศัย เครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงโอกาสในการพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้คนชั้นสูง ชั้นกลางยังมีความรู้สึกในการรวมกลุ่มสูงกว่าคนชั้นล่าง ความสัมพันธ์ระหว่างช่วงชั้นทางสังคมดังกล่าว มักจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การพึ่งพาอาศัยกันระหว่างเพื่อน หรือ "ผู้ใหญ่" ที่อยู่ต่างช่วงชั้นสังคม เป็นปรากฎการณ์ปกติ ความรู้สึกถึงผลประโยชน์ที่แตกต่างกันระหว่างช่วงชั้นสังคม ไม่มากพอที่จะผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มภายในแต่ละช่วงชั้น การเลื่อนชั้นทางสังคมเป็นสิ่งที่ส่วนมากคาดหวังว่าเป็นไปได้ คนในแต่ละช่วงชั้นในปัจจุบันรับว่าตนเองมีสถานภาพทางช่วงชั้นดีกว่าบิดามารดา และส่วนมากก็คาดหวังว่าลูกจะสามารถเลื่อนฐานะให้ดีกว่าตนเองได้ในอีก 20 ปีข้างหน้า ภายใต้สภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงในการจัดระเบียบช่วงชั้นทางสังคมในอีก 20 ปีข้างหน้า คงจะไม่มีผลให้เกิดความแตกต่างในการจัดระเบียบดังกล่าวจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมากนัก อย่างไรก็ตามการศึกษาการจัดช่วงชั้นทางสังคมยังจำต้องศึกษาและค้นคว้าให้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่าการศึกษาในครั้งนี้ การปรับปรุงวิธีการศึกษาให้ดียิ่งขึ้นจะช่วยให้ความเข้าใจการจัดระเบียบช่วงชั้นทางสังคมเป็นไปอย่างถูกต้องและชัดเจนยิ่งขึ้น