Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ ศึกษาถึงระดับราคาสินค้าที่แตกต่างกันตามชั้นรายได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความแตกต่างของพฤติกรรมการซื้อสินค้าของครัวเรือน จากแนวคิดที่ว่า คนรวยได้น้อยมีงบประมาณจำกัดทำให้ต้องซื้อสินค้าปริมาณน้อยแต่ซื้อบ่อยครั้ง สินค้าขนาดบรรจุเล็กมักมีราคาต่อหน่วยสูงกว่าสินค้าขนาดใหญ่ อีกทั้งคนรายได้น้อยมักซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดเล็กซึ่งมีราคาแพง กว่าร้านค้าขนาดใหญ่ เมื่อคนรายได้น้อยซื้อสินค้าแพงกว่าคนทั่วไปจะทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลงและส่งผลให้มีสัดส่วนคนยากจนที่แท้จริงเพิ่มขึ้นด้วย การจัดทำดัชนีราคาที่แตกต่างกันตามชั้นรายได้ 10 ชั้น ใช้ข้อมูลปริมาณ คุณภาพ มูลค่าที่ซื้อต่อครั้ง และร้านค้าที่ซื้อ ของอาหารและสินค้าที่จำเป็น 20 รายการ ที่ได้จากการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าของครัวเรือนในกรุงเทพฯ จำนวน 315 ครัวเรือน แผนการสุ่มตัวอย่างใช้ตามการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (สศส.) โดยคัดเลือกชุมรุมอาคารตัวอย่างจากบัญชี รายชื่อชุมชนอาคารตัวอย่างของสำนักงานสถิติแห่งชาติ การคำนวณสัดส่วนคนยากจนที่แท้จริงใช้ข้อมูลรายได้จาก สศส. 2545 และเส้นความยากจนจากการคำนวณของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลการศึกษาพบว่า ดัชนีราคาของชั้นรายได้ตํ่าที่สุดเท่ากับร้อยละ 109.58 ซึ่งสูงกว่าดัชนีราคาของชั้นรายได้สูงสุดที่มีค่าดัชนีราคาเท่ากับ 93.95 และโดยส่วนใหญ่ชั้นรายได้น้อยมีค่าดัชนีราคามากกว่าชั้นรายได้สูงกว่าตามลำดับ เมื่อนำดัชนีราคาไปคำนวณรายได้ที่แท้จริงและสัดส่วนคนยากจนที่แท้จริง พบว่า มีสัดส่วนคนยากจนเพิ่มขึ้น จากเดิมกรุงเทพฯ มีสัดส่วนคนยากจนเท่ากับ ร้อยละ 0.602 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.821 หลังปรับรายได้ด้วยดัชนีราคา หรือมีจำนวนคนจนเพิ่มขึ้น 17,175 คน สัดส่วนคนยากจนในเขตเมืองทั้งประเทศและแต่ละภาคก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ผลการศึกษาที่ได้สามารถใช้เป็นแนวทางในการวัดความยากจนให้ถูกต้องยิ่งขึ้น และจะใช้เป็นแนวทางในการวาง นโยบายเพื่อช่วยเหลือคนยากจนและผู้มีรายได้น้อยต่อไป