Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาปัญหาและเสนอแนวทางการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในการแก้ปัญหาความล้าหลังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการวิเคราะห์เอกสารและการสำรวจข้อมูลภาคสนาม การวิเคราะห์เอกสารได้วิเคราะห์นโยบายของรัฐ หลักสูตรระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา และวิเคราะห์หนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ การสำรวจภาคสนามดำเนินการในกรุงเทพมหานคร โดยสำรวจความสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนระดับประถมศึกษา มโนทัศน์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และจิตคติต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเเรียนระดับมัธยมศึกษารวมทั้งศึกษาความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับปัญหาและแนวการจัดการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความล้าหลังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้ 1. ได้มีการกำหนดนโยบายในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) ส่วนในด้านการศึกษาพบว่ามีการกำหนดนโยบายในการพัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ทั้งในแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) และแผนปฏิบัติการของกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ. 2531-2534) อย่างสอดคล้องกัน 2. ในด้านหลักสูตรพบว่าได้กำหนดให้มีการพัฒนาความสามารถของนักเรียนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไว้ในหลักการและจุดประสงค์ของหลักสูตร ทั้งในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย และพบว่าในหนังสือเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสอดแทรกไว้ในเนื้อหาวิทยาศาสตร์ทุกเล่ม 3. ในด้านความสนใจเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของนักเรียนประถมศึกษาพบว่า นักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีความสนใจหัวข้อเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ปรากฏอยู่ในหลักสูตรประถมศึกษา พุทธศักราช 2521 ทุกหัวข้อ 4. ในด้านมโนทัศน์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลายที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีมโนทัศน์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับต่ำมาก 5. ในด้านเจตคติต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพบว่านักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีเจตคติต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงนิมานในระดับไม่สูง 6. ในด้านปัญหาการจัดการศึกษาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผู้ทรงคุณวุฒิส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่ายังมีปัญหาในด้านการจัดการเรียนการสอนที่ผู้สอนส่วนใหญ่ยังไม่เน้นทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาความสามารถของนักเรียนทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่วนตัวหลักสูตรนั้นผู้ทรงคุณวุฒิมีความเห็นว่าได้เน้นในด้านการพัฒนานักเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเหมาะสมแล้ว 7. แนวการจัดการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในการแก้ปัญหาความล้าหลังด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นมีดังนี้ 7.1 การจัดหลักสูตรมี 3 แบบคือ แบบสอดแทรกเทคโนโลยีไว้ในเนื้อหาวิทยาศาสตร์ หรือเพิ่มบทเรียนเกี่ยวกับเทคโนโลยีในวิชาวิทยาศาสตร์ หรือจัดวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแยกเป็นวิชาหนึ่ง 7.2 ในกระบวนการเรียนการสอน ให้เน้นทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การจัดกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ การประเมินผลทั้งทางด้านมโนทัศน์ทักษะและเจตคติต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 7.3 จัดกิจกรรมนอกห้องเรียนที่ส่งเสริมความสามารถของนักเรียนในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในลักษณะต่างๆ 7.4 ในด้านการบริหารให้มีการพัฒนาความสามารถของครูในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ