Abstract:
วัตถุประสงค์ของการวิจัย: การวิจัยครั้งนี้เป็นการติดตามบัณฑิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่สำเร็จการศึกษาเมื่อปีการศึกษา 2526 และเป็นการติดตามหลังจากสำเร็จการศึกษาไปแล้ว 1 ปีโดยมีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลในการประกอบอาชีพของบัณฑิต และ 2) เพื่อศึกษาทัศนะของบัณฑิตเกี่ยวกับความรู้และประสบการณ์ที่บัณฑิตได้รับจากการศึกษาในคณะครุศาสตร์ วิธีวิจัย: ในการวิจัยดังกล่าวผู้วิจัยได้ใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นเองสอบถามจากบัณฑิต จำนวน 341 คน ได้รับแบบสอบถามกลับคืนจำนวน 212 ชุด คิดเป็นร้อยละ 62.14 ของประชากรทั้งหมด สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลได้ใช้สถิติคือ ร้อยละ ความถี่ มัชฌิมเลขคณิต และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน แล้วเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปตารางประกอบการอธิบาย ผลการวิจัย: 1. บัณฑิตครุศาสตร์ได้งานทำร้อยละ 81.28 ศึกษาต่อร้อยละ 11.90 และยังไม่มีงานทำ ร้อยละ 6.82 2. สาขาวิชาที่บัณฑิตว่างงาน ได้แก่ การศึกษาปฐมวัย การสอนวิชาเฉพาะ(ดนตรี) การสอนวิชาเฉพาะ (พลศึกษา) ประถมศึกษา และมัธยม-มนุษย์-สังคม โดยมีค่าร้อยละ 22.22, 16.67, 12.50. 6.90 และ 3.12 ตามลำดับ 3. บัณฑิตทำงานตรงสาขาวิชาที่เรียนร้อยละ 64.23 ไม่ตรงร้อยละ 35.77 และสาขาวิชาที่บัณฑิตทำงานไม่ตรงมากที่สุดร้อยละ 71.43 ได้แก่ การสอนวิชาเฉพาะ (ศิลปศึกษา) รองลงมาได้แก่ สาขาการสอนวิชาเฉพาะ (พลศึกษา) มัธยม-วิทยาศาสตร์ ประถมศึกษา การสอนวิชาเฉพาะ (ธุรกิจศึกษา) มัธยม-มนุษย์-สังคม การสอนวิชาเฉพาะ (ดนตรี) การศึกษานอกระบบโรงเรียน และการศึกษาปฐมวัย ตามลำดับ 4. บัณฑิตที่ประกอบอาชีพครู-อาจารย์ ส่วนมากสอนในระดับมัธยมศึกษา รองลงมาได้แก่ ระดับประถมศึกษา ระดับก่อนวัยเรียน และระดับอุดมศึกษา ตามลำดับ 5. เหตุผลที่บัณฑิตได้รับการพิจารณารับเข้าทำงานเรียงตามลำดับ คือ ความรู้ ความสามารถ (ทักษะ) บุคลิกภาพ และระบบพรรคพวก 6. บัณฑิตประกอบอาชีพในกรุงเทพมหานคร มากที่สุดร้อยละ 68.46 รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 13.92, 10.19, 4.26, 2.71 และ0.46 ตามลำดับ และทำงานอยู่ในเขตเมืองมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 88.46 เขตชนบทเพียงร้อยละ 11.54 เท่านั้น 7. บัณฑิตที่ได้งานทำทั้งหมด หางานทำได้ภายใน 6 เดือนมีจำนวนมากถึง ร้อยละ 93.16 ระยะเวลาที่หางานทำได้จำนวนมากที่สุด คือภายใน 1 เดือน หลังจากสำเร็จการศึกษาคิดเป็นร้อยละ 40.12 8. บัณฑิตทราบข่าวการรับสมัครงานจากหนังสือพิมพ์มากที่สุด 9. บัณฑิตได้รับเงินเดือนเดือนแรกสูงกว่าวุฒิ มีร้อยละ 33.03 เท่ากับวุฒิ ร้อยละ 61.67 และต่ำว่าวุฒิร้อยละ 5.30 10. ปัญหาที่บัณฑิตประสบขณะทำงานมีอยู่ 5 ด้าน จำแนกเป็นด้านส่วนตัว 11 ข้อ ด้านวิชาการ 17 ข้อ ด้านบริหาร 13 ข้อ ด้านสวัสดิการ 4 ข้อ และด้านอื่น ๆ 1 ข้อ 11. ตามทัศนะของบัณฑิต บัณฑิตได้รับความรู้จากกิจกรรมการเรียนการสอน ร้อยละ 57.05 กิจกรรมนอกหลักสูตร ร้อยละ 42.95 บัณฑิตส่วนมาก ร้อยละ 33.61 ใช้ความรู้ที่เรียนมาตรงกับงานที่ทำอยู่ในระดับปานกลาง 12. บัณฑิตครุศาสตร์นำความรู้ในหมวดวิชาเฉพาะ ((วิชาเอก) ไปใช้ในระดับใช้มาก ส่วนหมวดวิชาการศึกษาทั่วไป หมวดวิชาครู และหมวดวิชาเลือกเสรี ใช้ในระดับปานกลาง 13. รายวิชาที่บัณฑิตเห็นว่ามีประโยชน์ต่อการทำงานมากที่สุด มีทั้งหมด 37 รายวิชา 5 วิชาแรกได้แก่ ประสบการณ์วิชาชีพ จิตวิทยาพื้นฐานการศึกษา ภาษาอังกฤษ สถิติศาสตร์ชั้นนำ และมนุษยสัมพันธ์ 14. รายวิชาที่บัณฑิตเสนอแนะให้มีการปรับปรุงมีทั้งหมด 35 รายวิชา ด้านที่ควรปรับปรุงมากที่สุด ได้แก่ ด้านวิธีการสอน รองลงมาได้แก่ ด้านเนื้อหาวิชา การวัดและประเมินผล ตามลำดับ 15. รายวิชาที่บัณฑิตเสนอให้เพิ่มเข้าไปในหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิตมีทั้งหมด 44 รายวิชา 16. บัณฑิตให้ข้อเสนอแนะอื่น ๆ จำแนกเป็นด้านการผลิตบัณฑิต 5 ข้อ ด้านหลักสูตร และการเรียนการสอน 27 ข้อ ด้านอาจารย์ผู้สอน 5 ข้อ และด้านอื่น ๆ 7 ข้อ