Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับสถานภาพทั่วไป ความคิดเห็น ความคาดหวัง และปัญหาอุปสรรคของนักศึกษา ในการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบโดยระบบการศึกษาทางไกล ตลอดจนประโยชน์ที่นักศึกษาได้รับ และการเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงานหลังจากสำเร็จการศึกษาไปแล้ว การวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ระยะละ 1 ปี โดยระยะที่ 1 ทำการศึกษาจากนักศึกษาที่กำลังศึกษาในหลักสูตรการศึกษานอกระบบโรงเรียนโดยระบบการศึกษาทางไกล ระยะที่ 2 ทำการศึกษาจากนักศึกษาที่จบการศึกษาไปแล้ว กลุ่มตัวอย่างสำหรับการศึกษาระยะที่ 1 ได้แก่ นักศึกษาของหลักสูตรการศึกษานอกระบบทุกคนที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงปี 2532-2534 ซึ่งมีจำนวน 142 คน ส่วนการวิจัยระยะที่ 2 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บัณฑิตทุกคนของหลักสูตรวิชานี้ที่สำเร็จการศึกษาในช่วงปี 2534-2535 ซึ่งมีจำนวน 29 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลทั้ง 2 ระยะ ประกอบด้วย แบบสอบถาม การสัมภาษณ์เพิ่มเติมและการวิเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้องการวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถามใช้ค่าสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย การจัดอันดับ ส่วนข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์นั้นทำการวิเคราะห์และสรุปประเด็นที่สำคัญ ผลการวิจัย: 1. นักศึกษาหลักสูตรการศึกษานอกระบบส่วนใหญ่เป็นชาย (ร้อยละ 67) อายุระหว่าง 23-29 ปี (ร้อยละ 93) และร้อยละ 78 จบการศึกษาระดับอนุปริญญา 2. ปัจจัยทั้ง 4 ด้าน คือ ปัจจัยส่วนตัว ปัจจัยเกี่ยวกับอาชีพการงาน ปัจจัยเกี่ยวกับวิธีการเรียนการสอน และปัจจัยเกี่ยวกับสังคมสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการตัดสินใจเข้าศึกษาในหลักสูตรการศึกษานอกระบบของนักศึกษา 3. นักศึกษาส่วนใหญ่ (ร้อยละ 80) มีความคาดหวังว่าจะนำความรู้ที่ได้รับจากหลักสูตรนี้ไปปรับปรุงอาชีพการงาน ไปช่วยพัฒนาชุมชนและพัฒนาความรู้ของตนเอง 4. ปัญหาที่พบในการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบ โดยระบบการศึกษาทางไกลนั้น นักศึกษาประสบทั้งปัญหาส่วนตัว วิธีการเรียน สื่อและการวัดและประเมินผล 5. บัณฑิตที่จบจากหลักสูตรนี้ไปแล้วมีความคิดเห็นว่าสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ทั้งในด้านส่วนตัว ด้านอาชีพการงานและด้านการพัฒนาสังคมสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับความคาดหวังที่ตั้งไว้ก่อนจะเข้าศึกษา บัณฑิตส่วนใหญ่ไม่ได้นำวุฒิที่ได้รับไปปรับเงินเดือนหรือเปลี่ยนแปลงหน้าที่การงาน เพราะส่วนใหญ่เงินเดือนสูงกว่าระดับปริญญาตรีแล้ว แต่วุฒิที่ได้รับช่วยสร้างความมั่นใจและการยอมรับในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอแนะ: 1. การพัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ควรปรับให้ทันสมัย เนื้อหาไม่ซับซ้อน และให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับชุมชนได้มากยิ่งขึ้น 2. การจัดการเรียนการสอน ควรให้มีการพบปะทางวิชาการระหว่างอาจารย์และนักศึกษาบ้าง ควรให้นักศึกษาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติงานการศึกษานอกระบบโดยตรง ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3. ระบบการจัดการของมหาวิทยาลัย ควรประชาสัมพันธ์การเปิดสอนหลักสูตรให้มากขึ้น ข้อมูลข่าวสารที่ส่งถึงนักศึกษาควรยึดหลักสะดวกและรวดเร็ว และ 4. การวิจัยที่ควรมีต่อไป ควรทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับหลักสูตรให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น ศึกษาวิธีการที่จะจูงใจให้มีผู้เข้าศึกษาหลักสูตรให้มากขึ้น ศึกษาความต้องการของหน่วยงานที่จะรับบุคลากรทางด้านการศึกษานอกระบบ ศึกษาสาเหตุการออกกลางคันของนักศึกษาหลักสูตรนี้ ศึกษาแนวทางในการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษานอกระบบ