Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ 1) เพื่อประเมินและเปรียบเทียบคุณภาพของโรงเรียนประถมศึกษาโดยใช้การวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน-ความสำคัญ และเพื่อสร้างเมทริกซ์คุณภาพการจัดการศึกษา 2 มิติ เพื่อระบุจุดเด่นและจุดบกพร่องของโรงเรียน และ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลการประเมินคุณภาพภายนอกตามแบบ สมศ. และการวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน-ความสำคัญ ระหว่างกลุ่มโรงเรียนที่มีระดับคุณภาพแตกต่างกัน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาส สังกัดกรุงเทพมหานคร 4 โรงเรียน การรวบรวมข้อมูลเป็นการใช้แบบสอบถาม 2 ชุด รวบรวมข้อมูลจาก ครู และ นักเรียน จำนวน 202 และ 800 คน ตามลำดับ และใช้แบบบันทึกผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ กาวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน-ความสำคัญ และลิสเรล ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ 1.ตัวแปรแฝงความสำคัญ และผลการปฏิบัติงาน มีความตรงเชิงโครงสร้าง ตัวบ่งชี้ของตัวแปรความสำคัญ และผลการปฏิบัติงาน มี 5 ตัว คือ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น สภาพทางกายภาพ และผลผลิต คะแนนของตัวแปรความสำคัญ และผลการปฏิบัติงานของโรงเรียน โดยรวมมีค่าแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 โดยตัวแปรผลการปฏิบัติงานมีความต่ำกว่าตัวแปรความสำคัญ 2.ผลการประเมินคุณภาพของโรงเรียนโดยใช้ การวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน-ความสำคัญ พบว่าระดับคุณภาพของโรงเรียนทั้ง 4 ซึ่งมีความแตกต่างกันนั้น ทำให้เกิดความแตกต่างกันในมติด้านความสำคัญและผลการปฏิบัติงานอย่างมีนัยสำคัญ การเปรียบเทียบผลการประเมิน พบว่า การวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน-ความสำคัญ ให้สารสนเทศเกี่ยวกับจุดเด่นและจุดด้อยของโรงเรียนมากกว่าผลการประเมินจาก สมศ. และผลการประเมินจาก สมศ. มีค่าสูงกว่าผลการประเมินโดยใช้การวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงาน-ความสำคัญ ทุกตัวบ่งชี้