Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนจันเสนที่ส่งผลในการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์จันเสน รวมทั้งศึกษากระบวนการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมของชุมชนจันเสนในการก่อตั้งและธำรงอยู่ของพิพิธภัณฑ์จันเสน ซึ่งเก็บข้อมูลโดยวิธีการสังเกตการณ์แบบไม่มีส่วนร่วมและสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ให้ข้อมูลสำคัญจำนวน 20 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. ชุมชนจันเสนเป็นชุมชนเล็กๆ ที่เคยมีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ เพราะมีการตัดทางรถไฟพาดผ่าน แต่ต่อมาเมื่อมีการตัดถนน ผู้คนจึงอพยพไปประกอบอาชีพ ในถิ่นอื่น ชุมชนจันเสนเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่มีการรวมตัวกันทำกิจกรรมต่างๆ ที่วัดจันเสนและมี "หลวงพ่อโอด" เป็นผู้นำทางความคิดจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน เมื่อมีการค้นพบเมืองโบราณจากภาพถ่ายทางอากาศ จึงมีการขุดค้นอย่างเป็นทางการ จนเมื่อหลวงพ่อโอดดำริให้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โครงการก่อตั้ง"พิพิธภัณฑ์จันเสน" จึงเกิดขึ้น 2. ชุมชนจันเสนใช้กระบวนการสื่อสารเป็นกลไกในการสร้างการมีส่วนร่วมกับทั้งภายในกลุ่มชุมชนและภายนอกกลุ่มชุมชน อันได้แก่ นักวิชาการและนักท่องเที่ยว ซึ่งประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการก่อตั้งและธำรงอยู่ของพิพิธภัณฑ์จันเสน มีดังนี้ (1) การรวบรวมโบราณวัตถุ (2) เรื่องการจัดการอาคารสถานที่ (3) การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ (4) การบริหารงานของพิพิธภัณฑ์ (5) รายรับ - รายจ่ายของพิพิธภัณฑ์ (6) กิจกรรมเสริมของพิพิธภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว พิพิธภัณฑ์จันเสนเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่ก่อตั้งและดำเนินการเพื่อการธำรงอยู่โดยคนในชุมชนเพื่อชุมชนจันเสน สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนอย่างครอบคลุม โดยช่วยเสริมสร้างกลุ่มอาชีพและกิจกรรมต่างๆ ในชุมชนและที่สำคัญ การดำเนินการของพิพิธภัณฑ์ได้สร้างยุวมัคคุเทศก์ ซึ่งเป็นสื่อบุคคลรุ่นใหม่เพื่อการธำรงอยู่ของพิพิธภัณฑ์ในอนาคต