Abstract:
เชื้อไวรัสโรคท้องร่วงติดต่อในสุกรหรือเชื้อไวรัสพีอีดีก่อให้เกิดอาการท้องเสียเฉียบพลัน, อาเจียนและขาดน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ลูกสุกรที่มีอายุน้อยกว่า 7 วันตายอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยพบการระบาดของไวรัสพีอีดีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 และในปัจจุบันยังคงพบการระบาดของโรคในบางพื้นที่ โดยในการศึกษาครั้งนี้ได้ทำการศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมและทำการจัดกลุ่มสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสพีอีดีที่แยกได้จากสุกรป่วยจำนวน 21 ตัวอย่าง ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2555 โดยการวิเคราะห์และเปรียบเทียบลำดับนิวคลีโอไทด์และกรดอะมิโนของยีสไปค์และยีนนิวคลีโอแคปซิดกับสายพันธุ์อ้างอิงของประเทศไทย, สายพันธุ์วัคซีน และสายพันธุ์อ้างอิงที่มีรายงานในฐานข้อมูล ผลการศึกษาพบว่าไวรัสพีอีดีที่แยกได้ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2555 ในส่วนยีนสไปค์แสดงความใกล้เคียงทางพันธุกรรมต่อกันระหว่าง 90.50-100% ยกเว้น 1 สายพันธุ์ที่แสดงความแตกต่างทางพันธุกรรมกับสายพันธุ์อื่นที่ 90.50-93.55% ทำให้สายพันธุ์ที่มีความแตกต่างนี้ไม่ถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับสายพันธุ์ไทยส่วนใหญ่ส่วนการวิเคราะห์ในส่วนยีนนิวคลีโอแคปชิด พบว่าไวรัสพีอีดีที่แยกในระหว่างปี พ.ศ. 2554-2555 มีความใกล้เคียงทางพันธุกรรมต่อกันระหว่าง 97.67-100% และทุกสายพันธุ์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน นอกจากนี้การวิเคราะห์ในส่วนยีนสไปค์ของไวรัสพีอีดีที่แยกได้ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2555 กับสายพันธุ์อ้างอิง พบว่ามีความใกล้เคียงทางพันธุกรรมกับไวรัสพีอีดีของประเทศไทยที่แยกได้ในอดีตและไวรัสพีอีดีสายพันธุ์จากประเทศจีนที่ 90.50-99.53% และ 96.26-98.82% ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกันกับผลการวิเคราะห์ในส่วนยีนนิวคลีโอแคปซิด แสดงว่าไวรัสพีอีดีที่แยกได้ในการศึกษาครั้งนี้มีความใกล้เคียงทางพันธุกรรมสายพันธุ์จากประเทศจีน ที่ 94.00-99.52% ดังนั้นไวรัสพีอีดีที่แยกได้ระหว่างปี พ.ศ. 2554-2555 อาจมีต้นกำเนิดมาจากเชื้อไวรัสพีอีดีสายพันธุ์ประเทศจีน