Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบลักษณะการสื่อสารเชิง กลยุทธ์ของขงเบ้งและสุมาอี้จากวรรณกรรมสามก๊ก ในสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกัน 3 ประเภท คือ สถานการณ์เชิงลบ สถานการณ์ที่เป็นกลาง และสถานการณ์เชิงบวก โดยใช้แนวทางการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์บริบทตามหัวข้อองค์ประกอบการวางแผนการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ของ Ketchum Inc. รวมถึงการวิเคราะห์บทความของผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและการบริหาร ผลการวิจัยพบว่า ในสถานการณ์เชิงลบ ขงเบ้งและสุมาอี้ใช้วิธีการสื่อสารเชิงกลยุทธ์เพื่อแก้ไขชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของตนเอง โดยขงเบ้งใช้วิธีการ "ถ่ายโอนอำนาจ" ของเล่าปี่มาใช้เพื่อสั่งการกลุ่มเป้าหมายให้ปฏิบัติตาม จนเกิดเป็นการเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ฝ่ายสุมาอี้ใช้วิธีการนิ่งเฉย เมื่อมีโอกาสที่จะแสดงความชอบจึงดำเนินการด้วยความ "รวดเร็ว" และในสถานการณ์ที่เป็นกลาง ขงเบ้งและสุมาอี้ใช้การสื่อสารเชิงกลยุทธ์เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีที่เข้ามาหากุนซือทั้งสอง ซึ่งขงเบ้งใช้วิธีการ "ย้อนรอย" แผนการที่เป็นอุบายของฝ่ายซุนกวน โดยเลือกจูล่งเป็นผู้ถือหนังสือเดินทางไปเมืองง่อก๊กกับเล่าปี่ และวางแผนให้เปิดหนังสือแต่ละฉบับตามเวลาที่กำหนด ฝ่ายสุมาอี้ใช้หลักปฏิบัติการอย่าง "รอบคอบ" เพื่อทำศึกกับฝ่ายขงเบ้ง ส่วนสถานการณ์เชิงบวก ขงเบ้งและสุมาอี้ใช้วิธีการสื่อสารเพื่อจัดการเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อก๊กของตนในอนาคต โดยขงเบ้งใช้วิธีการ "เอาชนะความคิด" ต่อเบ้งเฮ็กผู้นำการก่อขบถแดนใต้ให้อ่อนน้อมและเกรงกลัว ซึ่งขงเบ้งได้ปล่อยตัวเบ้งเฮ็กไปถึง 6 ครั้ง เพื่อให้เบ้งเฮ็กจนตรอกทางความคิดและไม่ต้องการทำศึกต่อขงเบ้งอีกต่อไป ฝ่ายสุมาอี้ใช้วิธีการ "แสดงแสร้งป่วย" จนทำให้โจซองเกิดความคลายใจ เป็นผลให้สุมาอี้ยึดอำนาจทางทหารโจซองได้สำเร็จ