Abstract:
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ศึกษาเรื่องการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 เฉพาะกรณีมาตรา 40(1)โดยจะศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญและหลักการของการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ หลักพื้นฐานในการพิจารณาความสงบเรียบร้อยในการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและแนว ทางการวินิจฉัยเหตุแห่งการเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ การเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการที่ศาลเข้ามามีบทบาทในการเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยคู่ความซึ่งได้รับผลกระทบจากคำชี้ขาดนั้นจะดำเนินการคัดค้านคำชี้ขาดต่อศาลที่ทำการอนุญาโตตุลาการเพื่อขอให้เพิกถอนคำชี้ขาด ซึ่งการเพิกถอนคำชี้ขาดมีหลักมาจากการตรวจสอบคำชี้ขาดของศาลอันมีที่มาจากการใช้อำนาจรัฐควบคุมและกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับการอนุญาโตตุลาการที่เกิดขึ้นในเขตอำนาจหรือในดินแดนของรัฐ ทั้งนี้การแทรกแซงของศาลในการอนุญาโตตุลาการจะต้องเป็นไปในลักษณะของการสร้างสมดุลระหว่างเสรีภาพของคู่สัญญาและการควบคุมความยุติธรรมของกระบวนการอนุญาโตตุลาการ นอกจากนี้ การเพิกถอนคำชี้ขาดยังมีหลักการสำคัญมาจากหลักความสงบเรียบร้อยซึ่งเป็นหลักที่ศาลใช้ควบคุมกระบวนการอนุญาโตตุลาการอันประกอบไปด้วยเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ศาสนาและมาตรฐาน ทางสังคมของรัฐใดรัฐหนึ่งที่แต่ละรัฐต้องการปกปักรักษาไว้ ดังนั้น หลักความสงบเรียบร้อยจึงมีความไม่แน่นอนจาก ปัจจัยสนับสนุนสองประการ ได้แก่ ปัจจัยด้านความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา สังคม หรือระบบ กฎหมายที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ และปัจจัยด้านเวลา กล่าวคือ คุณค่าและมาตรฐานของชุมชนมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาได้ง่ายตามสภาพสังคมหรือผู้นำสังคม ความสงบเรียบร้อยที่ศาลใช้ในการควบคุมกระบวนการอนุญาโตตุลาการแบ่งได้สองประเภท ได้แก่ ความสงบ เรียบร้อยภายในประเทศ อันเป็นหลักสำคัญในการปกป้องผลประโยชน์ของรัฐ และหลักความสงบเรียบร้อยระหว่าง ประเทศอันเป็นหลักความสงบเรียบร้อยภายในประเทศที่ใช้ในความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อตอบสนอง ความต้องการทางการค้าระหว่างประเทศของคู่สัญญา ดังนั้น ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศจึงมีแนวคิดที่จำกัดกว่าความสงบเรียบร้อยภายในประเทศโดยจะจำกัดที่การละเมิดแนวคิดพื้นฐานของกฎหมายด้านความยุติธรรมและศีลธรรม เช่น สิทธิที่จะได้รับฟังข้อมูลที่มีผลต่อการทำคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการ การปฏิบัติต่อคู่สัญญาที่เท่าเทียมกัน ความเป็นกลางของอนุญาโตตุลาการ และความประพฤติชอบในการอนุญาโตตุลาการ