Abstract:
ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของเยอรมัน เป็นระบบการมีผู้แทนเป็นสัดส่วนโดยมีบุคคลเป็นองค์ประกอบ ยึดหลักการของสัดส่วนเป็นหลักสำคัญ กล่าวคือถ้าพรรคการเมืองได้คะแนนเสียงที่สองเป็นสัดส่วนเท่าใดก็จะได้จำนวน ส.ส.เท่านั้น คะแนนเสียงที่สองตามบัญชีรายชื่อจะเป็นตัวชี้จำนวนส.ส.อย่างแท้จริง และจะทำหน้าที่ชดเชยให้พรรคการเมืองต่างๆ มีจำนวน ส.ส.ตามสัดส่วนคะแนนที่ตนได้รับจริง กล่าวคือ หลังจากนำจำนวน ส.ส.จากคะแนนเสียงที่หนึ่ง ซึ่งเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากอย่างง่ายจากเขตเลือกตั้งเขตละ 1 คน มาหักจากจำนวน ส.ส.ตามสัดส่วนบัญชีรายชื่อแล้วได้ผลต่างเท่าใดก็ให้เอาจำนวน ส.ส. ตามลำดับในบัญชีรายชื่อมาชดเชยตามจำนวนนั้น จุดเด่นของการเลือกตั้งแบบสัดส่วนของเยอรมัน คือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาเยอรมัน (BWG) ยึดถือหลักการว่าคะแนนเสียงของประชาชนทุกคนจะต้องมีผลต่อการจัดสรรที่นั่งของ ส.ส. และในขณะเดียวกันก็ประสานความนิยมสูงสุดในตัวบุคคลของแต่ละเขตเลือกตั้ง มีผลให้คะแนนเสียงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งไม่สูญเปล่า พรรคการเมืองต่างๆ จะได้รับจำนวนที่นั่ง ส.ส.อย่างเป็นธรรม ส่วนระบบและวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ของไทยตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งได้บัญญัติให้นำระบบสัดส่วนจากบัญชีพรรคจำนวน 100 คน มาใช้ผสมกับระบบแบ่งเขตเลือกตั้งโดยเสียงข้างมากอย่างง่าย เขตละ 1 คน จำนวน 400 เขต ในลักษณะเป็นแบบผสมแท้ ซึ่งจะแยกบัญชีผู้ได้คะแนนเสียงข้างมากจากเขตเลือกตั้งกับคะแนนเสียงที่เลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อของพรรคอย่างเด็ดขาด ในประเด็นนี้ ได้ก่อให้เกิดผลเสียหรือจุดอ่อน ที่สมควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือการเลือกตั้งตามระบบเสียงข้างมากอย่างง่ายใน 400 เขตเลือกตั้ง จะก่อให้เกิดคะแนนสูญเปล่าจำนวนมหาศาล คะแนนเสียงที่ลงให้กับผู้ที่แพ้เลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ เมื่อรวมกันทั้งประเทศแล้ว จะมีจำนวนสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ทำให้จำนวนคะแนนรวมจากเขตเลือกตั้งไม่สมดุลกับจำนวนที่นั่ง ส.ส. ซึ่งไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ ยังมีสาระสำคัญจุดเด่นจุดด้อย และข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน อีกจำนวนหลายประการตั้งแต่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางการเมือง ตลอดไปจนถึงเรื่องการตรวจสอบคัดค้านและการดำเนินคดีการเลือกตั้ง ส.ส. รวมถึงผลกระทบต่อการดำเนินการทางการเมือง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในโอกาสต่อไป