Abstract:
ด้วยเหตุที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ.2540) และเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์และยุติธรรม แต่อย่างไรก็ดี ไม่ปรากฎว่ามีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดได้บัญญัติถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งเอาไว้ ดังนั้น ในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น จึงเกิดการกระทำที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและเป็นปัญหานำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญท ี่ 24/2543 เกี่ยวกับระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ว่า ระเบียบท ี่ออกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่และศึกษาถึงผลกระทบจากเหตุผลในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า ก่อให้เกิดผลกระทบประการใดต่อหลักกฎหมายมหาชน และต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติหรือประชาชนอย่างไร เพื่อที่จะศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นต่อไปจากการศึกษาพบว่า เหตุผลของคำวินิจฉัยได้กระทบต่อหลักกฎหมายมหาชนอย่างมากในสองประการคือ ประการแรก การดำเนินงานของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาในการส่งระเบียบที่ออกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา198 และประการที่สอง การรับระเบียบดังกล่าวซึ่งมีลักษณะเป็น "กฎ" ไว้พิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีบทบัญญัติใดของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการควบคุมและตรวจสอบกฎหมายลำดับรองที่ออกโดยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ผู้เขียนจึงเสนอว่า ควรมีการจัดทำระเบียบว่าด้วยการเสนอเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรม-นูญในการรับเรื่องไว้พิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้การเสนอเรื่องของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาและการรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างมีระบบซึ่งเป็นไปตามหลักกฎหมาย