Abstract:
การวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสังเคราะห์เทคนิคที่ใช้ในการประเมินความต้องการจำเป็นในวิทยานิพนธ์ของนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยประกอบด้วยวิทยานิพนธ์ที่ใช้เทคนิคการประเมนิความต้องการจำเป็นของนิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ทำขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2507-2540 จำนวนทั้งสิ้น 233 เรื่อง เครื่องมือวิจัยประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูล มีการเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2541 ผลการวิจัยพบว่างานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นมีปริมาณเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2507-2534 โดยในช่วง 2525-2534 มีงานวิจัยเฉลี่ยปีละ 13 เรื่อง จากเดิมที่เคยทำก่อนหน้านั้นเฉลี่ยปีละ 2-3 เรื่อง แต่ในช่วงปี พ.ศ. 2535-2540 เริ่มมีปริมาณลดลงเล็กน้อยเฉลี่ยปีละ 12 เรื่อง แต่ใน ภาควิชาที่ทำวิจัยเกี่ยวกับความต้องการจำเป็นมากที่สุด คือ ภาควิชาโสตทัศนศึกษา (ร้อยละ 25) รองลงมาเป็นภาควิชาบริหารการศึกษา (ร้อยละ 19) และภาควิชาพลศึกษา (ร้อยละ 18) นอกจากนี้ยังพบว่ามีการศึกษาในเนื้อหาที่เกี่ยวกับระดับมัธยมศึกษามากที่สุด (ร้อยละ 31) รองลงมาเป็นการศึกษาความต้องการจำเป็นในองค์กร ชุมชน หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานต่าง ๆ (ร้อยละ 22) และการศึกษาในระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 20) งานวิจัยส่วนใหญ่ให้นิยามความต้องการจำเป็นว่าเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงซึ่งหากไม่ได้รับการสนองตอบจะทำให้เกิดสภาวะที่ไม่พึงประสงค์ โดยมีถึงร้อละ 90 งานวิจัยเหล่านี้มีการใช้คำในวัตถุประสงค์ของการวิจัยว่าเป็นการศึกษา "ความต้องการ" มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 52 รอลงมาเป็นการศึกษา "ปัญหากับความต้องการ" (ร้อยละ 16) และการศึกษา "สภาพปัญหา ความต้องการ" (ร้อยละ 15) สำหรับงานวิจัยใช้คำว่าเพื่อศึกษา "ความต้องการจำเป็น" (needs) มีเพียง 7 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 3 เท่านั้น ในด้านเนื้อหาสาระที่มีการวิจัยนั้นพบว่ามีการศึกษาความต้องการจำเป็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมากที่สุด (ร้อยละ 25) รองลงมาเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากร (ร้อยละ21) การนิเทศการสอน (ร้อยละ 19) และการพัฒนาองค์กร (ร้อยละ 10) ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาความต้องการของกลุ่มผู้ใช้บริการ (service provider) รวมทั้งหมดประมาณร้อยละ 76 โดยเป็นความต้องการของครูอาจารย์มากที่สุด (ร้อยละ 75) ผู้บริหารการศึกษา (ร้อยละ 15) และศึกษานิเทศก์ (ร้อยละ 4) และสำหรับการศึกษาความต้องการจำเป็นของกลุ่มผู้รับบริการ (service receiver) มีร้อยละ 30 โดยเป็นความต้องการจำเป็นของนักเรียน (ร้อยละ 13) ผู้ปกครอง (ร้อยละ 5) และประชาชนทั่วไป (ร้อยละ 12) งานวิจัยที่ทำการศึกษาส่วนใหญ่เป็นความต้องการจำเป็นระดับกลุ่มบุคคล (ร้อยละ 79) และระดับองค์กร (ร้อยละ 21) นอกจากนี้งานวิจัยประมาณร้อยละ 73 ศึกษาความต้องการด้านกระบวนการและปัจจัย (quasi needs) ที่เหลือร้อยละ 27 เป็นการศึกษาความต้องการด้านผลผลิต (real needs) ผลการวิจัยพบว่างานวิจัยส่วนใหญ่ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจด้วยแบบสอบถาม (ร้อยละ 96) รองลงมาใช้วิธีสัมภาษณ์ (ร้อยละ 14) และใช้กระบวนการกลุ่ม (group process) มีร้อยละ 1 ทั้งนี้มีงานวิจัยหลายเรื่องใช้วิธีการเก็บข้อมูลมากกว่าหนึ่งวิธี เครื่องมือที่ใช้มากที่สุดในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม (ร้อยละ 91) รองลงมาเป็นแบบสัมภาษณ์ (ร้อยละ 18) รูปแบบของเครื่องมือในงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นแบบการตอบสนองเดี่ยว (single-response format) (ร้อยละ 81) รองลงมาเป็นแบบการตอบสนองคู่ (duel-response format) (ร้อยละ 10) รูปแบบการตอบของเครื่องมือในการวิจัยพบว่าส่วนใหญ่เป็นแบบมาตรประมาณค่า (ร้อยละ79) รองลงมาเป็นชนิดปลายเปิด (ร้อยละ 60) และที่เป็นแบบสำรวจรายการ (ร้อยละ 31) ในด้านประเภทของข้อมูลในงานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาข้อมูลเชิงปริมาณ (ร้อยละ 60) งานวิจัยเพียงจำนวน 4 เรื่องเท่านั้น (ร้อยละ 2) ที่ทำการศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพ ส่วนงานวิจัยที่ทำการศึกษาข้อมูลแบบผสมระหว่างเชิงคุณภาพและปริมาณ มีจำนวน 90 เรื่อง (ร้อยละ 39) ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าส่วนใหญ่ทำการแยกวิเคราะห์ข้อมูลตามธรรมชาติของข้อมูล กล่าวคือ เครื่องมือวิจัยแบบตอบสนองเดี่ยว (single-response format) ซึ่งเป็นมาตรประมาณค่า วิเคราะห์โดยใช้สถิติภาคบรรยาย ได้แก่ การใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมากที่สุด (ร้อยละ 43) การวิเคราะห์โดยการรายงานค่าความถี่และร้อยละมีประมาณร้อยละ 17 และที่ใช้ลักษณะผสมคือมีทั้งร้อยละ และค่าเฉลี่ยมีประมาณร้อยละ 29 สำหรับรูปแบบแบบสอบถามปลายเปิดจะใช้การวิเคราะห์โดยวิธีการบรรยาย ด้านการนำเสนอข้อมูลพบว่าร้อยละ 69 ของงานวิจัยนำเสนอข้อมูลโดยการจัดลำดับความสำคัญของความต้องการจำเป็น และมีงานวิจัยที่ไม่ได้มีการจัดลำดับความสำคัญของความต้องการจำเป็นร้อยละ 31 โดยงานวิจัยกลุ่มนี้นำเสนอแต่ค่าสถิติ เช่น ค่าเฉลี่ย ร้อยละ แต่อย่างเดียว ปริมาณงานวิจัยที่เกี่ยวกับการศึกษาความต้องการจำเป็นของแต่ละภาควิชาในแต่ละช่วงปีมีแนวโน้มที่ไม่เหมือนกัน ผลการวิจัยพบว่าภาควิชาบริหารการศึกษา ประถมศึกษา โสตทัศนศึกษา และสารัตถศึกษา จะมีปริมาณงานวิจัยที่เกี่ยวกับความต้องการจำเป็นไม่คงที่แน่นอน ในขณะที่งานวิจัยของงานภาควิชาอุดมศึกษาและการศึกษานอระบบโรงเรียนจะมีปริมาณค่อนข้างคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สำหรับงานวิจัยของภาควิชาวิจัยการศึกษา มัธยมศึกษาและศิลปศึกษา มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่งานสิจัยของภาควิชาภลศึกษามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าเนื้อหาสาระที่ทำการศึกษาในแต่ละช่วงปีมีลักษณะไม่แน่นอน ทุกภาควิชาจะทำการศึกษาความต้องการของกลุ่มครูอาจารย์เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นภาควิชาการศึกษานอกระบบ จะทำการศึกษาความต้องการจำเป็นของกลุ่มประชาชนมากกว่า ภาควิชาประถมศึกษา มีงานวิจัยที่ศึกษาความต้องการจำเป็นเกี่ยวกับการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและการพัฒนาบุคลากร สำหรับภาควิชามัธยมศึกษา ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรและการนิเทศการศึกษา ส่วนภาควิชาวิจัยการศึกษาและโสตทัศนศึกษามีการทำวิจัยด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน สำหรับภาควิชาบริหารการศึกษาส่วนใหญ่ทำวิจัยเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา ในขณะที่ภาควิชาพลศึกษา อุดมศึกษา และการศึกษานอกระบบโรงเรียนมีการทำวิจัยกระจายในเนื้อหาสาระที่หลากหลาย เมื่อพิจารณาวิธีการที่ใช้ในการศึกษาความต้องการจำเป็นพบว่าไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยของภาควิชาใด ทำในช่วงปีใด ส่วนใหญ่ใช้วิธีการสำรวจในการศึกษาความต้องการจำเป็น โดยรูปแบบของเคร่าองมือจะเป็นแบบสอบถามเป็นส่วนใหญ่ และเป็นแบบการตอบสนองเดี่ยว นอกจากนี้ยังพบว่าไม่ว่าจะทำการศึกษาความต้องการจำเป็นของกลุ่มเป้าหมายใด นิยามความต้องการจำเป็นเป็นแบบใด ใช้คำในวัตถุประสงค์แบบใดก็ตาม หรือจะทำการศึกษาความต้องการจำเป็นในเนื้อหาสาระใดพบว่าใช้รูปแบบการตอบสนองเดี่ยว โดยส่วนใหญ่อยู่ในรูปมาตรประมาณค่า ผลการวิจัยเกี่ยวกับขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่ใช้พบว่า ขนาดของกลุ่มตัวอย่างสัมพันธ์กับประเภทของกลุ่มตัวอย่าง หากเป็นการศึกษาในกลุ่มนักเรียน ส่วนใหญ่ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาดมากกว่า 600 คน ในกลุ่มของครูอาจารย์ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาด 101-300 คน และ 301-600 คน สำหรับการวิจัยในกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ใช้กลุ่มตัวอย่างขนาด 301-600 คน นอกจากนี้ยังพบว่าการศึกษากับกลุ่มนักเรียน ผู้ปกครอง และศึกษานิเทศก์ นั้น ส่วนใหญ่จะใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบที่ไม่ใช้โอกาสความน่าจะเป็น ส่วนการศึกษากับกลุ่มครูและผู้บริหาร จะใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างง่ายเป็นส่วนใหญ่ ผลการสังเคราะห์งานวิจัยพบว่าวานวิจัยส่วนใหญ่ทำไม่ครบทั้ง 3 ขั้นตอนตามที่ควรจะเป็นในกระบวนการประเมินความต้องการจำเป็นแบบสมบูรณ์ (complete needs assessment process) ดำเนินการเพียงขั้นตอนการระบุความต้องการจำเป็น (needs identification) ส่วนอีกสองขั้นตอนที่เหลือ คือ ขั้นตอนของการวิเคราะห์ความต้องการ (needs analysis) และขั้นของประเมินความต้องการจำเป็นเพื่อระบุความต้องการจำเป็นที่สำคัญที่สุด (needs assessment) ส่วนใหญ่ไม่ได้มีการดำเนินการ