Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพรวมด้านเนื้อหาและวิธีการนำเสนอภาพเยาวชน ใน วรรณกรรมสำหรับเยาวชนอายุระหว่าง 14 - 18 ปี ซึ่งพิมพ์จำหน่ายในประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2541 เปรียบเทียบการเสนอภาพของเยาวชนในวรรณกรรมเยาวชนของไทย กับวรรณกรรมเยาวชนที่แปลจาก ภาษาต่างประเทศ และศึกษาถึงปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการเลือกนำเสนอวรรณกรรมเยาวชนทั้งสองประเภท จากทรรศนะและประสบการณ์ของบรรณาธิการสำนักพิมพ์ โดยใช้วิธี การวิเคราะห์เนื้อหาวรรณกรรมที่มีคุณ สมบัติตรงตามที่กำหนดทั้งหมด 146 ชื่อเล่ม ด้วยแนวคิดและวิธีการทางสัญญวิทยา รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึก บรรณาธิการสำนักพิมพ์ 5 แห่งที่ตีพิมพ์วรรณกรรมเยาวชนมากที่สุดในตลาดวรรณกรรมเยาวชนของไทย ผลการศึกษาพบว่า วรรณกรรมเยาวชนของไทยมีจำนวนวรรณกรรมประเภทเรื่องแนวสมจริงมากกว่าเรื่องแนวจินตนาการอย่างเห็นได้ชัด (ร้อยละ 83.57 ต่อ ร้อยละ 13.43) ในขณะที่ วรรณกรรมเยาวชนแปลจากภาษาต่างประเทศ มีจำนวนวรรณกรรมทั้งสองประเภทหลักใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 44.30 ต่อร้อยละ 55.70) การเสนอภาพเยาวชนในวรรณกรรมเยาวชนไทย ส่วนใหญ่เสนอเรื่องที่เกิดขึ้นในชนบท ตัวละครเยาวชนส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาในชนบทเน้นการแสดงปัญหาที่เกิดจากปัจจัยภายนอก เป็นรูปธรรม และเสนอปัญหาซ้ำ ๆ อย่างตรงไป ตรงมาผ่านบทบรรยายหรือตัวละคร การเล่าเรื่องในลักษณะที่ซ้ำรอยเดิมทำให้ไม่เอื้อต่อการพัฒนาตัวละคร นอกจากนั้นยังพบว่าตัวละครเยาวชนและผู้ใหญ่ แสดงบทบาทต่อกันและกันในฐานะ 'ผู้รับ' และ 'ผู้ให้’ ซึ่งทำให้ เยาวชนไทยมักตกเป็นฝ่ายรับ (passive) ของสกานการณ์ ในขณะที่ ในวรรณกรรมเยาวชนต่างประเทศจะแสดงปัญหาอย่างเป็นนามธรรมกว่า และมีความหลากหลายของประเด็นและวิธีการนำเสนอมากกว่า มีการเล่าเรื่องที่ก้าวหน้าและเอื้อต่อการพัฒนาตัวละครมากกว่า โดยตัวละครเยาวชนและผู้ใหญ่มีโอกาสแสดงบทบาทผู้ให้และผู้รับได้เท่าเทียมกัน โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ บรรณาธิการอธิบายปัจจัยเบื้องหลังลักษณะของวรรณกรรมเยาวชนไทยว่า ตลาดวรรณกรรมเยาวชน ไทยยังแคบเนื่องจากนักเขียนยังไม่เข้าใจในเยาวชน จึงมักเสนอเรื่องโดยให้การอบรมสั่งสอนอย่างตรงไปตรงมา เพราะเห็นว่าถูกใจผู้ปกครองและบรรณารักษ์ นอกจากนั้น งานเขียน ลักษณะนี้ยังมีโอกาสได้รับรางวัลมากขึ้นด้วย