Abstract:
ศึกษากระบวนการรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี ของเทศบาลนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้พระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กฎหมายต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการเลือกตั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ในหลายแง่มุม เช่น วิธีการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นจากการเลือกตั้งโดยอ้อมมาเป็นการเลือกตั้งโดยตรง ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องขององค์กรที่เข้ามาดูแลควบคุมจัดการการเลือกตั้ง จากกระทรวงมหาดไทยมาเป็นคณะกรรมการเลือกตั้ง และความเปลี่ยนแปลงในด้านความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเลือกตั้ง ที่มีมาตรการลงโทษอย่างจริงจัง เป็นต้น จากการศึกษาพบว่า 1) การจัดตั้งองค์กรหาเสียง วิธีการ-ยุทธวิธี และความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครรับเลือกตั้ง หัวคะแนน และประชาชนส่วนใหญ่ เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคลในรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ โดยมีผลประโยชน์เป็นตัวเชื่อมทั้งสามฝ่ายเข้าด้วยกัน แต่ในอีกส่วนหนึ่งได้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้สมัครฯ หัวคะแนนและประชาชน โดยไม่ได้เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ทั้งสามฝ่ายมิได้มีความสัมพันธ์ส่วนตัวใดๆ ระหว่างกัน 2) กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกส่งผลให้กระบวนการเลือกตั้ง โดยเฉพาะกระบวนการรณรงค์หาเสียงเปลี่ยนแปลงไป ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ แง่ลบคือ เกิดการปรับตัวด้านกลยุทธ/วิธีการหาเสียงที่ไม่สุจริตต่างๆ ให้แยบยลซับซ้อนมากขึ้นจนกฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้ ส่วนในแง่บวกคือ เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของเทศบาลที่นโยบาย ได้เข้ามามีบทบาทในการรณรงค์หาเสียง ในฐานะส่วนประกอบสำคัญที่มีผลต่อชัยชนะในการเลือกตั้ง ควบคู่ไปกับการใช้กลยุทธหาเสียงด้วยวิธีการเดิมๆ