Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา (1) องค์ประกอบของปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อนในการสื่อสารบนสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก (2) ปัจจัยที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน และ (3) ผลที่สามารถประเมินได้ของปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน ผ่านเพจเฟซบุ๊กที่มีแนวโน้มจะเกิดปรากฏการณ์แห่งห้องเสียงสะท้อน ในประเด็นการสื่อสารที่มีแนวโน้มแบ่งขั้วทางความคิด 2 ประเด็น คือ ประเด็นการจัดการผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ และประเด็นความวุ่นวายในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2560 โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ คือ วิเคราะห์เนื้อหาและการวิเคราะห์ตัวบทความคิดเห็นบนโพสต์ของเพจ อีกทั้งยังสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ติดตามเพจที่มีความกระตือรือร้นสูง และค้นคว้าเอกสารต่าง ๆ
ผลการศึกษาองค์ประกอบของปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อนในการสื่อสารทั้งสองประเด็น โดยการวิเคราะห์เนื้อหาพบว่า ผู้ติดตามเพจสื่อสารความคิดเห็น โดยให้ข้อเท็จจริงและตั้งคำถามต่อข้อมูลที่ได้รับรวมกันน้อยกว่าการให้ความคิดเห็นถึง 9 เท่า การสัมภาษณ์พบว่าผู้ติดตามเพจมีวิธีเลือกรับและหลีกเลี่ยงข้อมูลที่ขัดแย้งกับทัศนคติของตนเอง 4 แบบ คือ 1) การหลีกเลี่ยงทางกายภาพต่อเนื้อหา 2) การไม่ทำความเข้าใจเนื้อหา 3) การเลือกรับข้อมูลเพื่อหาข้อโต้แย้ง และ 4) การเลือกรับข้อมูลเพื่อจับผิดผู้นำเสนอข้อมูล และการวิเคราะห์ตัวบทพบว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 1) เลือกรับและตอบสนองต่อข้อมูลอย่างลำเอียง 2) สร้างกลุ่มแบ่งขั้ว และ 3) สื่อสารกันอย่างเป็นภัย
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลต่อปรากฏการณ์ห้องเสียงสะท้อน ได้แก่ 1) การนำเสนอข่าวสารของสื่อและบรรยากาศการสื่อสาร ส่งผลต่อเฉพาะการสื่อสารประเด็นการจัดการผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ 2) ปัจจัยด้านการกำกับดูแลเนื้อหา และ 3) ลักษณะของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีการออกแบบฟีเจอร์และฟังก์ชันการใช้งานโดยมีกลไกของอัลกอริทึมอยู่เบื้องหลัง ได้ลดทอนความซับซ้อนของข้อมูล ผลักดันเนื้อหาที่ได้รับความนิยม และสร้างสังคมของคนที่คิดเหมือนกัน โดยผู้ติดตามเพจประเมินว่าการสื่อสารแบบห้องเสียงสะท้อนมีผลทั้งด้านที่ดีและด้านเสีย ทั้งต่อตัวบุคคลและต่อสังคม