Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงประเมินเพื่อสังเคราะห์และเสนอแนะระบบกลไกการบริหารจัดการทุนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยขอบเขตการวิจัยคือ การศึกษาองค์การบริหารจัดการทุนในลักษณะกรณีศึกษา 5 องค์กร คือ (1) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (2) สภาคาทอลิกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา (เปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการสภาคาทอลิกเพื่อการพัฒนาเมื่อปลายปี 2543 ในงานวิจัยนี้ศึกษาเฉพาะศูนย์พัฒนาสังคม) (3) สำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (4) กองทุนสิ่งแวดล้อม และ (5) กองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยคือ (1) ศึกษากลไกและแนวทางการบริหารจัดการทุนเพื่อสร้างความยั่งยืนสำหรับชุมชนที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นในการจัดการกิจกรรมสาธารณะของท้องถิ่นโดยท้องถิ่น เพื่อท้องถิ่น ได้อย่างจริงจัง (2) ศึกษาเปรียบเทียบและประเมินรูปแบบการจัดการทุนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (3) ศึกษาและนำเสนอรูปแบบการจัดการบริหารกองทุนที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย จากการศึกษาเปรียบเทียบทั้ง 5 องค์กร ในประเด็นความเป็นมา ปรัชญาการก่อตั้งและวิสัยทัศน์แหล่งที่มาและจำนวนเงินทุน เป้าหมาย วัตถุประสงค์ กลุ่มเป้าหมาย แนวทางการดำเนินงานการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงกลไกพิจารณาจัดสรรทุนระดับต่าง ๆ ตลอดจนระบบตรวจสอบและประเมินผลพบว่า เมื่อพิจารณาถึงลักษณะกองทุนจะมีกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะด้านและกองทุนที่มีวัตถุประสงค์กว้างครอบคลุมหลายด้าน และเนื่องจากปัจจุบันมีกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะด้านอยู่มากแล้ว คณะวิจัยจึงเสนอรูปแบบกองทุนที่สนับสนุนการพัฒนาอย่างรอบด้าน วิสัยทัศน์ของกองทุนเพื่อการพัฒนาควร "เป็นกองทุนที่มุ่งเน้นพัฒนาคนและชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว โดยให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาของประเทศเป็นหลัก" วัตถุประสงค์ของกองทุน ควรประกอบด้วย (1) เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนสามารถฟื้นฟู สั่งสมจัดการและใช้ประโยชน์จากทุนของชุมชนโดยการสร้างกลไกกระตุ้นให้คนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองและสังคม โดยเป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาคน มุ่งแก้ปัญหาให้ชุมชน และเอื้อหนุนให้เกิดองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง (2) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ในระดับต่างๆ ตามประเด็นปัญหาที่หลากหลายและสอดคล้องกับพื้นที่และมิติการพัฒนา (3) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ด้านพัฒนาที่มีผลกระทบต่อนโยบายทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ เพื่อให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นโดยประชาชนมีส่วนร่วม และ (4) สนับสนุนการดำเนินงานด้านการพัฒนาขององค์กรชุมชน และองค์กรพัฒนาเอกชน แหล่งทุนที่เหมาะสม ควรมาจากงบประมาณแผ่นดิน ขณะเดียวกันควรเปิดโอกาสให้มีการระดมทุนจากภาคเอกชนภายในประเทศทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ตลอดจนการระดมทุนจากต่างประเทศด้วย ขนาดของกองทุนที่เหมาะสมควรอยู่ในขนาดกลางขึ้นไป กล่าวคือ ควรเป็นกองทุนที่มียอดเงินประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยอาจเป็นกองทุนก่อตั้งประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีการจัดสรรจากรัฐเพิ่มเติมจนกว่าจะครบตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การจัดสรรควรมีวงเงินประมาณ 600-800 ล้านบาทต่อปี เพื่อที่จะกระจายให้กับโครงการพัฒนาของประชาชนให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ รูปแบบการสนับสนุนมี 3 ประเภท คือ (1) การสนับสนุนแบบให้เปล่า (Grant) (2) การสนับสนุนทุนแบบกู้ยืม (Loan) และ (3) การสนับสนุนทุนแบบสมทบกองทุนหมุนเวียน (revolving Fund) โครงการกองทุนควรมีกรรมการ 2 ระดับคือ (1) คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาส่วนกลาง ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและเชื่อมประสานเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่รอบด้านที่สอดคล้องกับภูมินิเวศและยุทธศาสตร์การพัฒนาของท้องถิ่น และกำหนดแนวทางการให้การสนับสนุนของกองทุน (2) คณะกรรมการกองทุนเพื่อการพัฒนาระดับภูมิภาคหรือระดับท้องถิ่น มีหน้าที่พิจารณาโครงการที่เสนอขอว่าสอดคล้องกับยุทธศาสตร์หลักของกองทุนและยุทธศาสตร์การพัฒนาของท้องถิ่น ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาโครงการระดับท้องถิ่น และอนุมัติโครงการระดับท้องถิ่น โดยคณะกรรมการทั้ง 2 ระดับจะไม่ดำเนินการในโครงการพัฒนา คณะกรรมการทั้ง 2 ระดับ ควรประกอบด้วยผู้แทนภาคีต่าง ๆในพื้นที่ในระดับชาติ และผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการจะต้องได้รับการเสนอชื่อจากภาคีต่าง ๆ ควรมีภาคีอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ ราชการ นักวิชาการ และภาคประชาชน และสัดส่วนของตัวแทนภาคีควรเป็น 1:1:2 ตามลำดับ นอกจากนี้ กองทุนจะต้องมีระบบติดตามตรวจสอบทั้งภายในและภายนอก เพื่อความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับจากสาธารณชน