Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาทัศนะที่มีต่อการประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ไทย จากบุคคลหลาย ๆ วงการ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวโทรทัศน์โดยตรง ในระดับผู้บริหารงานข่าว และจากบุคคลที่ประกอบอาชีพอื่น แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานข่าวโทรทัศน์ ในฐานะเป็นแหล่งข่าว ผลการวิจัยพบว่า การทำงานของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ไทย ยังมีความเป็นวิชาชีพไม่สมบูรณ์ คือ แม้ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ไทยมีความกระตือรือร้น ขยัน อดทน อุทิศตนให้กับการทำงาน แต่สำหรับด้านการศึกษา ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ไทยไม่ได้จบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์โดยตรงทุกคน โดยทัศนะของผู้บริหารสถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งเห็นว่า ผู้ที่เรียนนิเทศศาสตร์เป็นที่มีความรู้พื้นฐานที่จะเข้าสู่วิชาชีพ และเป็นศาสตร์เฉพาะด้าน แต่ในทางปฏิบัติสถานี โทรทัศน์ทุกแห่งได้เปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่ได้จบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์เข้าทำงานผู้สื่อข่าว เพราะมองว่าบุคคลกลุ่มนี้สามารถนำความรู้เฉพาะด้านที่ศึกษามาใช้ประโยชน์กับงานข่าวได้ ในขณะที่ความเห็นของผู้ที่เป็นแหล่งข่าวกลับมองว่า ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ควรจบการศึกษาทางด้านนิเทศศาสตร์โดยตรงมากกว่า และควรได้รับการอบรมให้เชี่ยวชาญในสายงานข่าวที่ตนรับผิดชอบ นอกจากนี้องศกรวิชาชีพนั้นได้มีการจัดตั้งสมาคมวิชาชีพสำหรับผู้ที่ทำงานข่าวโทรทัศน์โดยตรงขึ้นมาแล้ว แต่ไม่มีบทบาทต่อการพัฒนาวิชาชีพผู้สื่อข่าวโทรทัศน์อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังพบว่า มีสถานีโทรทัศน์ 2 แห่ง ที่ประกาศจรรยาวิชาชีพของสถานีขึ้นมาควบคุมดูแลการทำงานผู้สื่อข่าวของตนเอง คือสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 และสถานีโทรทัศน์สีไอทีวี ด้านความมีจริยธรรมของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ไทย ได้มีการตีความคำว่า ‘สินบน' ว่า เป็นการให้เงิน หรือสิ่งของ และมีเงื่อนไขในการเสนอข่าว เพื่อให้เกิดผลในเชิงบวกแก่ผู้ให้เงิน หรือสิ่งของนั้น ที่ผ่านมาเคยมีผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ถูกจับได้ว่ารับเงิน หรือสิ่งของจากแหล่งข่าว ซึ่งผู้บริหารของแต่ละสถานีจะทำการสอบสวน และมีการลงโทษ ซึ่งโทษสูงสุดคือ ไล่ออก เพราะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์บางส่วน รวมกลุ่มกันจัดทำรายการวิทยุ และมีการขอเงินสนับสนุนในการทำรายการวิทยุจากนักการเมือง ในส่วนของการเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ไทย แม้จะมีการตรวจสอบความถูกต้องอย่างเป็นลำดับขั้นตอนแล้ว ยังเกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการทำงานที่ต้องอาศัยความรวดเร็ว ภายใต้ภาวะการแข่งขัน นอกจากนี้ในการเสนอข่าวของผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ไทย ยังมีการเสนอความคิดเห็นส่วนตัวลงไปในข่าว มีการด่วนสรุปว่าบุคคลในข่าวกระทำความผิด ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้รับการตัดสินจากศาล ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวบางส่วนก็มีความระมัดระวังในการที่จะปกปิดแหล่งข่าวรวมทั้งระมัดระวังการเสนอข่าวเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมายมากขึ้น