Abstract:
ด้วยเหตุที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยที่แรงงานมีแนวโน้มลดลง การหาแรงงานมาทดแทนในตลาดแรงงานจึงเป็นประเด็นที่ควรศึกษา เนื่องจากแรงงานที่ต้องการจะทำงานเพิ่มกว่าร้อยละ 80 เป็นแรงงานนอกระบบ การศึกษาครั้งนี้จึงสนใจศึกษาปัจจัยที่ส่งอิทธิพลต่อความต้องการจะทำงานเพิ่มของแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะค่าจ้าง ทั้งระดับค่าจ้าง และประเภทค่าจ้างที่ได้รับ (รายเดือน/ไม่ใช่รายเดือน) รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ทางประชากร เศรษฐกิจ และสังคม โดยใช้ข้อมูลการสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2560 สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่าง คือ แรงงานนอกระบบที่เป็นลูกจ้าง และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ Multiple linear regression และ Tobit Model ผลการศึกษา พบว่า ค่าจ้างเป็นปัจจัยหลักที่ส่งอิทธิพลต่อความต้องการจะทำงานเพิ่ม ผู้ที่มีรายได้จากค่าจ้างเมื่อเทียบกับผู้อื่นน้อยกว่า 1,000 บาทต่อเดือน มีความต้องการจะทำงานเพิ่มมากกว่า 4.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีการโค้งกลับของเส้นอุปทานแรงงาน และผู้ที่ได้รับค่าจ้างประเภทรายชั่วโมง และผู้ที่ได้รับค่าจ้างประเภทรายวันหรือรายสัปดาห์จะมีความต้องการทำงานเพิ่มมากกว่าผู้ที่ได้รับค่าจ้างประเภทรายเดือน 57.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 26.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ตามลำดับ ข้อค้นพบนี้ของแรงงานนอกระบบของไทยสอดคล้องกับแนวคิดตามทฤษฎี Instant Gratification ที่ยิ่งระยะเวลาในการรอผลตอบแทนยิ่งน้อยความต้องการจะทำงานเพิ่มยิ่งสูงมากขึ้นมาก และหากศึกษาเฉพาะกลุ่มลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างแบบไม่ใช่รายเดือน พบว่า ผู้ที่ได้รับค่าจ้างแบบไม่ใช่รายเดือนและมีทักษะแรงงานในระดับสูงมีความต้องการจะทำงานเพิ่มมากกว่าผู้ที่มีทักษะต่ำ 30.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์