Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์ 1) เพื่อศึกษาระดับความระคายเคืองของสินค้าในโฆษณา รูปแบบการนำเสนอโฆษณา และสื่อที่มีโฆษณาที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองในผู้บริโภค ที่มีลักษณะทางประชากรที่แตกต่างกัน 2) เพื่อศึกษาพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงสินค้าในโฆษณา รูปแบบการนำเสนอโฆษณา และสื่อที่มีโฆษณาที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองในผู้บริโภค ที่มีลักษณะทางประชากรที่แตกต่างกัน และ 3) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความระคายเคืองและพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงโฆษณา ที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองในผู้บริโภค โดยได้ศึกษากับกลุ่มประชากรทั้งชายและหญิงที่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร อายุระหว่าง 18-45 ปี จำนวนทั้งสิ้น 400 คน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2551 ผลการวิจัยพบว่า 1) ผู้บริโภคที่มีลักษณะทางประชากรที่แตกต่างกันจะมีความระคายเคืองต่อสินค้าในโฆษณา รูปแบบการนำเสนอ และสื่อที่มีโฆษณาที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 2) ผู้บริโภคที่มีลักษณะทางประชากรที่แตกต่างกันจะมีพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงสินค้าในโฆษณา รูปแบบการนำเสนอ และสื่อที่มีโฆษณาที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3) ความระคายเคืองของผู้บริโภคมีความสัมพันธ์ในเชิงบวก กับพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงโฆษณาของผู้บริโภค