Abstract:
ทรัพยากรน้ำเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการผลิตสินค้าและบริการให้กับภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ การจัดสรรทรัพยากรน้ำจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจ การศึกษานี้ได้พัฒนาเครื่องมือที่มีความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำเข้าด้วยกัน โดยนำตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตระหว่างภาค (Multi-Regional Input-Output Model: MRIO) ของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2555 มาผนวกกับข้อมูลปริมาณการใช้น้ำของสาขาการผลิต กลายเป็นตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตระหว่างภาคแบบไฮบริด (Multi-Regional Hybrid Input-Output Model) 47 สาขาการผลิต แบ่งเป็น 7 ภูมิภาค (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล) วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้ 1) วิเคราะห์ตัวชี้วัดการใช้น้ำของสาขาการผลิต ประกอบด้วย ความต้องการใช้น้ำ ผลกระทบย้อนกลับของการใช้น้ำ และความเข้มข้นในการใช้น้ำของสาขาการผลิต และ 2) ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการจัดสรรทรัพยากรน้ำในสถานการณ์ภัยแล้ง โดยใช้เครื่องมือ Multi-Regional Hybrid Input-Output Analysis
ผลการศึกษา พบว่า ภาคเกษตรกรรม (สาขาการทำนา) เป็นสาขาการผลิตที่มีความต้องการใช้น้ำมากที่สุด มีค่าผลกระทบย้อนกลับของการใช้น้ำและมีความเข้มข้นในการใช้น้ำสูง ภาครัฐควรมีแนวทางการปรับปรุงเทคโนโลยีการผลิตให้สามารถใช้น้ำในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และผลการจำลองสถานการณ์จัดสรรทรัพยากรน้ำ พบว่า สถานการณ์ที่ 3 การลดการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมทั้งประเทศ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าผลผลิต รายได้จากการจ้างงาน และมูลค่าเพิ่มของประเทศมากที่สุด (ลดลงร้อยละ 31.03 ร้อยละ 12.39 และร้อยละ 15.67 ตามลำดับ) และสถานการณ์ที่ 2 การลดการใช้น้ำภาคเกษตรกรรมทั้งประเทศ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงมูลค่าผลผลิต รายได้จากการจ้างงาน และมูลค่าเพิ่มของประเทศน้อยที่สุด (ลดลงร้อยละ 0.70 ร้อยละ 1.03 และร้อยละ 1.15 ตามลำดับ) โดยภาคใต้ได้ผลกระทบมากที่สุดจากการลดการใช้น้ำภาคเกษตรกรรม นำมาสู่ประเด็นการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม ภาครัฐควรมีแนวทางในการชดเชยรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการจัดสรรทรัพยากรน้ำที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้เกษตรเหล่านี้มีรายได้ไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก พร้อมทั้งปรับปรุงนโยบายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น