Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นการศึกษานัยทางการเมืองที่ปรากฏและแฝงตัวอยู่ภายในสถาปัตยกรรมของอาคารรัฐสภาไทย โดยมุ่งศึกษาไปที่อาคารรัฐสภาสัปปายะสภาสถานซึ่งเป็นอาคารรัฐสภาแห่งที่สามของประเทศ เพื่อตอบคำถามงานวิจัยว่า อาคารรัฐสภาไทยมีแนวคิดในการออกแบบ ความเป็นมาในการจัดตั้ง และความหมายทางการเมืองไทยอย่างไร โดยอาศัยการตีความผ่านหนังสือ เอกสารงานวิจัย และข่าวที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ทั้งในแง่ของแนวคิด การเลือกพื้นที่ และการเลือกแบบในการก่อสร้างของอาคารรัฐสภาไทย
ผลการวิจัยประการแรกพบว่า สถาปัตยกรรมของอาคารราชการ โดยเฉพาะสถาปัตยกรรมอาคารรัฐสภาไทยมีนัยยะสำคัญที่สื่อถึงความไม่เท่ากันของอำนาจทางการเมืองระหว่างรัฐและประชาชนผ่านการออกแบบและสถาปัตยกรรม
ประการที่สอง พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งเป็นอาคารที่เดิมถูกออกแบบไว้สำหรับการจัดพระราชพิธีและรับรองพระราชอาคันตุกะ ตกแต่งด้วยภาพวีรกรรมของบูรพกษัตริย์ ก็กลายเป็นสถานที่ซึ่งจัดพระราชทานรัฐธรรมนูญ อันเป็นจุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ ขณะที่อาคารรัฐสภาแห่งที่สองถูกก่อสร้างในช่วงที่ประเทศถูกปกครองด้วยรัฐบาลทหารอย่างยาวนาน สถาปัตยกรรมแบบทันสมัยของอาคารเป็นการสื่อถึงการเป็นประเทศที่ทันสมัยไปพร้อมกับการเบ่งบานของประชาธิปไตย
ประการสุดท้าย อาคารรัฐสภา ‘สัปปายะสภาสถาน’ เป็นอาคารรัฐสภาที่ถูกทีมสถาปนิกออกแบบภายใต้แนวคิดเรื่องคุณค่าทางศีลธรรมจากการเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ผ่านการออกแบบด้วยคติพุทธ-พราหมณ์ และเรื่องไตรภูมิ อันเป็นรูปแบบจักรวาลวิทยาที่มีพระอาทิตย์และพระจันทร์โคจร บนยอดของอาคารมีเจดีย์พระจุฬามณีเป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช แนวความคิดและการออกแบบเหล่านี้เป็นการออกแบบที่มุ่งสร้างศีลธรรมและการอุปถัมภ์จากเทพผู้คุ้มครองรัฐสยาม เพราะทีมสถาปนิกมองว่าปัญหาทางการเมืองเกิดจากนักการเมืองและประชาชนขาดศีลธรรม การเลือกเขาพระสุเมรุมาสร้างเป็นอาคารจะเป็นการทำให้เหล่าผู้ทำงานภายในอาคารระลึกถึงการทำหน้าที่ของตนเพื่อคนในชาติภายใต้การอุปถัมภ์จากเทพผู้คุ้มครองรัฐสยาม แต่ในอีกด้านหนึ่งพระสยามเทวาธิราชก็แสดงถึงการที่จัดให้สถาบันกษัตริย์เป็นผู้อยู่ในลำดับที่สูงที่สุดในจักรวาลวิทยาแบบไทยเหนือคุณค่าของประชาธิปไตยแบบตะวันตก