Abstract:
กำหนดและควบคุมปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของยางรถยนต์ โดยใช้การวิเคราะห์ข้อบกพร่องและผลกระทบในกระบวนการผลิต (Failure Mode and Effects Analysis, FMEA) มาใช้วิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของกระบวนการผลิตยางรถยนต์ โดยเริ่มจากการศึกษากระบวนการผลิตและค้นหาปัจจัย ที่มีผลกระทบต่อข้อบกพร่องทุกขั้นตอนการผลิต โดยอาศัยแผนภาพแสดงเหตุและผล แผนภาพความสัมพันธ์และแผนภาพต้นไม้ เป็นเครื่องมือช่วยในการค้นหาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อข้อบกพร่องเหล่านั้น จากนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการผลิตนั้นมาวิเคราะห์ เพื่อประเมินค่าความรุนแรงของข้อบกพร่อง การเกิดข้อบกพร่อง และการควบคุมกระบวนการ เพื่อคำนวณหาค่าดัชนีความเสี่ยงชี้นำ (Risk Priority Number หรือ RPN) ซึ่งเป็นค่าที่บอกถึงความเสี่ยงที่จะเกิดข้อบกพร่อง โดยค่า RPN ยิ่งมีค่ามากหมายถึง มีความเสี่ยงที่จะเกิดข้อบกพร่องสูง โดยทั่วไปค่า RPN จะมีค่าอยู่ระหว่าง 1 ถึง 1,000 คะแนน ในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้จะเน้นการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีค่าดัชนีความเสี่ยง ตั้งแต่ 100 คะแนนขึ้นไป (Stamatis, 1995:39) การวิเคราะห์และควบคุมปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคุณภาพของยางรถยนต์นี้ จะเริ่มจากการพิจารณาข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การผสมยางจนเป็นยางรถยนต์สำเร็จรูป โดยอาศัยการระดมสมองแล้วหาแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องเหล่านั้น ซึ่งผลการแก้ไขมีทั้งการจัดทำแผนภูมิการตรวจสอบ การจัดทำรายละเอียดและการตั้งค่ามาตรฐานในการทำงานของเครื่องจักร ฯลฯ ซึ่งผลการดำเนินการแก้ไขทำให้จำนวนของยางเสีย ในยางรถยนต์นั่งเรเดียลลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 1.009% เหลือ 0.392% ส่วนยางรถบรรทุกไบแอส ลดลงจาก 0.025% จนไม่มียางเสียเลย หลังจากนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนความรุนแรงของข้อบกพร่อง การเกิดขึ้นของข้อบกพร่องและการควบคุมกระบวนการอีกครั้งหนึ่ง เพื่อคำนวณหาค่า RPN ใหม่ หลังจากการควบคุมข้อบกพร่องแล้ว พบว่าค่า RPN ใหม่ลดลงจากค่า RPN เดิม 50%-90% ซึ่งหลังจากการแก้ไขจนลดข้อบกพร่องลงได้แล้ว ก็จัดทำแผนการควบคุม (Control Plan) เพื่อควบคุมปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคุณภาพ และป้องกันข้อบกพร่องนั้นมิให้เกิดขึ้นซ้ำอีก โดยแผนการควบคุมนี้จะประกอบไปด้วย รายละเอียดของการทำงาน เครื่องมือหรือเครื่องจักรที่เกี่ยวข้อง จุดที่ต้องควบคุม ข้อกำหนดหรือค่าเผื่อต่างๆ การประเมินผล จำนวนตัวอย่างที่ต้องตรวจสอบ กระบวนการควบคุม และผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบ ตลอดจนแผนการแก้ไขหากเกิดข้อบกพร่องนั้นขึ้น