Abstract:
งานวิจัยนี้เป็นโครงงานวิจัยนำร่องสู่โครงการหลักมหาวิทยาลัยวิจัย คลัสเตอร์อาหารและน้ำหัวข้อการพัฒนาเทคนิคการตรวจวิเคราะห์สารเติมแต่ง สารปนเปื้อน สารตกค้าง สาระสำคัญในอาหารและผลิตผลการเกษตร นำเสนอการตรวจวัดสารยาสัตว์ตกค้างในเนื้อไก่การวิเคราะห์สารปนเปื้อนเหล่านี้ในสินค้าปศุสัตว์ทั้งสิ้น 24 ชนิด จาก 8 กลุ่มหลักได้แก่ กลุ่ม aminoglycosides 3 ชนิด, กลุ่ม β-lactam 3 ชนิด, กลุ่ม lincosamides 2 ชนิด, กลุ่ม macrolides 4 ชนิด, กลุ่ม quinolones 4 ชนิด, กลุ่ม sulfonamides 4 ชนิด, กลุ่ม tetracyclines 3 ชนิดและ amprollium โดยสกัดด้วยตัวทำละลายและวิเคราะห์ด้วยเทคนิคลิควิดโครมาโทกราฟีแทนเดมแมสสเปกโทรเมทรี โดยใช้คอลัมน์แยกในระบบไฮโดรฟิลิก วิธีการมีประสิทธิภาพสูง โดยมีขีดจำกัดต่ำสุดการวิเคราะห์ที่ 0.1-10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมค่าร้อยละการคืนกลับและความเที่ยงที่ระดับความเข้มข้นต่ำสุดที่ยอมให้มีได้อยู่ที่ 53-99% และ ≤ 15% ตามลำดับ วิธีการนี้ได้ทดลองใช้ในตัวอย่างเนื้อไก่ กุ้งและไข่ พบว่าใช้ได้ดีและสามารถใช้ได้ในงานวิเคราะห์ที่ทำประจำในห้องปฏิบัติการ นอกจากนี้ได้ทดลองใช้เทคนิคการสกัดด้วยเส้นใยกลวง สกัดยาปฏิชีวนะ 11 ชนิดในน้ำเส้นใยกลวงมีรูพรุน ขนาดเล็ก ราคาถูก สามารถเพิ่มความเข้มข้นของสารที่ ต้องการตรวจวัดได้ถึง 156 เท่า มีขีดจำกัดการตรวจวัดต่ำถึง 10-250 นาโนกรัมต่อลิตร ค่าร้อยละการคืนกลับของวิธีการนี้เป็นที่น่าพอใจที่ระดับ 78-118% นอกจากนี้ได้นำเสนอสมการและแบบจำลองทางทฤษฎีสำหรับค่าจำเพาะการแยกสารใน MEKC (αMEKC) เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงการแยกและลำดับการเคลื่อนที่ของสารที่มีประจุใน MEKC ซึ่ง αMEKC สัมพันธ์กับตัวแปรที่ไม่มีหน่วยของค่าความจำเพาะของ μ (ความสามารถในการเคลื่อนที่) ในคะพิลลารีโซนอิเล็กโทรฟอริซิส (αCZE) และค่าความจำเพาะของรีเทนชันใน MEKC (αk) โดยที่ αCZE นิยามเป็นอัตราส่วนของ μ ใน CZE และ αk นิยามเป็นอัตราส่วนของค่า k ใน MEKC สำหรับสองสารมีประจุ เมื่อใช้อัลคิลพาราเบนเป็นสารทดสอบ พบว่า αMEKC จากการทดลองสอดคล้องกับค่าทำนายจากแบบจำลองทางทฤษฎี