Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) กำหนดประเด็นวิจัยและคุณลักษณะการวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการวิจัยของ กองทัพอากาศ และศึกษาสำรวจปัญหาการดำเนินการหลักสูตรวิจัยและสภาพแวดล้อมการส่งเสริมการวิจัยของหลักสูตรการทัพอากาศ 2) สังเคราะห์งานวิจัยของผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรการทัพอากาศ ในประเด็นวิจัยและลักษณะการวิจัย และเปรียบเทียบผลการสังเคราะห์กับแนวนโยบายด้านการวิจัยของกองทัพอากาศ 3) ประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรวิจัยของหลักสูตรการทัพอากาศ และ 4) กำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับการส่งเสริมการวิจัยของหลักสูตรการทัพอากาศ การวิจัยใช้วิธีวิจัยแบบผสม ประกอบด้วย การสังเคราะห์ งานวิจัย การวิจัยเชิงสำรวจ และการวิจัยประเมินความต้องการจำเป็น เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากรเอกสารวิจัยของผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตรการทัพอากาศปี 2548-2552 จำนวน 316 เล่ม ประชากรอาจารย์วิทยาลัยการทัพอากาศ จำนวน 27 คน กลุ่มตัวอย่างผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรการทัพอากาศปี 2548-2552 จำนวน 336 คน และประชากรนักศึกษาหลักสูตรการทัพอากาศปี 2553 จำนวน 69 คน เครื่องมือวิจัยที่ใช้ประกอบด้วย แบบประเมินคุณภาพงานวิจัย แบบสังเคราะห์งานวิจัย แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แนวคำถามการสนทนากลุ่ม และแบบตรวจสอบความเหมาะสมของกลยุทธ์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยสถิติบรรยาย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วน เบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ ด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ใช้เทคนิค Modified priority needs index (PNI[superscript modified]) ในการจัดลำดับความสำคัญของความต้องการจำเป็น และใช้เทคนิคการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT analysis) สำหรับการกำหนดกลยุทธ์แบบหนึ่งในส่วนของการวิจัยเชิงสำรวจ ผลการวิจัยที่สำคัญสรุปได้ว่า 1) ประเด็นวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการวิจัยของกองทัพอากาศคือ การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อ (1) การบริหารจัดการ การฝึกอบรม และการพัฒนาบุคลากร (2) การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้สามารถที่จะวางกำลังหน่วยปฏิบัติการในระดับต่างๆ ได้อย่างเต็มความสามารถ (3) การใช้กำลังทางอากาศในการเฝ้าตรวจระวังภัยทางอากาศ (4) การใช้กำลังทางอากาศในการดำเนินกลยุทธ์ร่วมกับกำลังอื่นๆ (5) การใช้กำลังทางอากาศในการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน (6) การพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารจัดการของกองทัพอากาศ (7) การพัฒนาหลักการและหลักนิยมทางทหาร ส่วนลักษณะการวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายด้านการวิจัย ของกองทัพอากาศ มี 2 ลักษณะคือ แบบการวิจัยและผลการวิจัย โดยที่แบบการวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา ส่วนผลการวิจัยในส่วนของที่เป็นข้อค้นพบคือ ความรู้ประยุกต์และนวัตกรรม และผลการวิจัยส่วนที่เป็นข้อเสนอแนะคือ การนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ 2) ปัญหาการดำเนินการหลักสูตรวิจัยของหลักสูตรการทัพอากาศ ประกอบด้วยปัญหาด้านการบริหารจัดการหลักสูตร ปัญหาด้านผู้สอน ปัญหาด้านผู้เรียนและปัญหาด้านการเรียนการสอน ในส่วนสภาพแวดล้อมของการส่งเสริมการวิจัยของหลักสูตรการทัพอากาศ ที่เป็นสภาพแวดล้อมภายในมีปัจจัยที่เป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ได้แก่ ด้านบุคลากร ด้านวัสดุอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก และด้านการบริหารจัดการหลักสูตร นอกจากนี้ ปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนเดี่ยวๆ ได้แก่ ด้านโครงสร้างและนโยบาย ด้านประสิทธิผลหลักสูตร และด้านประสิทธิภาพการเงิน สำหรับสภาพแวดล้อมภายนอกทุกปัจจัยเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค ประกอบด้วย ด้านการเมืองและกฎหมาย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและวัฒนธรรมและด้านเทคโนโลยี 3) ประเด็นวิจัยและลักษณะการวิจัยของงานวิจัยของผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรการทัพอากาศ ยังไม่สอดคล้องกับประเด็นวิจัยและลักษณะการวิจัยตามนโยบายด้านการวิจัยของกองทัพอากาศ 4) การพัฒนาหลักสูตรวิจัยของหลักสูตรการทัพอากาศ ยังมีความต้องการจำเป็นต้องพัฒนา 4 ด้านคือ (1) สภาพการเรียนการสอนหลักสูตรวิจัย (2) คุณลักษณะการวิจัยของผู้เรียน (3) ทักษะการวิจัยของผู้เรียน (4) คุณลักษณะการให้คำปรึกษาของผู้สอน 4) กลยุทธ์เพื่อส่งเสริมการวิจัยของหลักสูตรการทัพอากาศ ประกอบด้วย 5 กลยุทธ์หลัก 17 กลยุทธ์รอง และ 74 กลยุทธ์ระดับแนวทางปฏิบัติ โดยกลยุทธ์หลักประกอบด้วย (1) กลยุทธ์พัฒนานโยบาย ส่งเสริมการวิจัย (2) กลยุทธ์พัฒนาการบริหารจัดการหลักสูตรวิจัย (3) กลยุทธ์พัฒนาอาจารย์ (4) กลยุทธ์พัฒนานักศึกษา (5) กลยุทธ์พัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตรวิจัย