Abstract:
ในปัจจุบันมีการใช้สารกำจัดวัชพืชเป็นจำนวนมากในการทำการเกษตร หนึ่งในสารกำจัดวัชพืชที่เป็นที่นิยมใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศคือ ไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารที่มีความเป็นพิษต่อมนุษย์ และยังตกค้างในดินและน้ำในบริเวณต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้นจึงมีความจำเป็นในการพัฒนาวิธีการตรวจวัดปริมาณไกลโฟเซตที่ง่าย และสามารถพัฒนาเป็นชุดตรวจวัดได้ ในงานวิจัยนี้วิธีการตรวจวัดเชิงสีสำหรับไกลโฟเซตได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยให้ไกลโฟเซตเกิดสารประกอบเชิงซ้อนของไอออนเหล็ก (III) จากนั้นทำการตรวจวัดปริมาณไอออนเหล็ก (III) ที่เหลือด้วยโพแทสเซียม เฟอร์โรไซยาไนด์ ซึ่งเกิดเป็นสารประกอบเชิงซ้อนละลายน้ำของปรัสเซียน บลู ที่มีค่าการดูดกลืนแสงสูงสุดที่ความยาวคลื่น 700 นาโนเมตร โดยขั้นแรกศึกษา pH ที่เหมาะสมของสารละลายผสมไกลโฟเซต เฟอร์ริคคลอไรด์ และโพแทสเซียม เฟอร์โรไซยาไนด์ พบว่า pH 5 เป็น pH ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับปฏิกิริยาการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนเฟอร์ริค-โพแทสเซียม เฟอร์โรไซยาไนด์ในสารละลายที่มีไกลโฟเซตผสมอยู่ ทำการศึกษาความเข้มข้นที่เหมาะสมของสารละลายเฟอร์ริคคลอไรด์และโพแทสเซียม เฟอร์โรไซยาไนด์ ที่เหมาะสม พบว่าช่วงความเข้มข้นของสารละลายที่เหมาะสมคือ สูงกว่า 1.0 x 10⁻⁴ โมลาร์ แต่ไม่เกิน 1.5 x 10⁻⁴ โมลาร์ สำหรับไกลโฟเซตความเข้มข้น 0.1 – 2.0 ppm สุดท้ายทำการศึกษาความสามารถในการแข่งขันระหว่างการเกิดสารประกอบเชิงซ้อนของไอออนเหล็ก (III) กับไกลโฟเซต และไอออนเหล็ก (III) กับโพแทสเซียม เฟอร์โรไซยาไนด์ โดยใช้เทคนิค UV – Visible spectroscopy พบว่าสารประกอบเชิงซ้อนระหว่างไอออนเหล็ก (III) กับไกลโฟเซตอาจจะเกิดได้ดีกว่าสารประกอบเชิงซ้อนไอออนเหล็ก (III) กับโพแทสเซียม เฟอร์โรไซยาไนด์