Abstract:
งานวิจัยนี้ได้มีการพัฒนาวิธีการในการวิเคราะห์ที่ง่ายและมีประสิทธิภาพ ในการแยกสิ่งรบกวนต่อการวิเคราะห์สารระเหยง่ายในตัวอย่างน้ำหอม วิธีการนี้ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำหอมที่มีเมทริกซ์ ของน้ำมันกฤษณาสังเคราะห์มารบกวน โดยใช้เทคนิคโครมาโทกราฟีแผ่นเคลือบบาง (TLC) ในการแยกสารบนแผ่นซิลิกาเจลและการเลือกตัดอย่างจำเพาะในบริเวณของแผ่นที่มีสารเป้าหมายก่อนการนำไปวิเคราะห์ต่อไป สภาวะ TLC ที่เลือกใช้คือ ระบบตัวทำละลายผสมระหว่างเฮกเซนและเอทิลอะซิเตต (อัตราส่วนปริมาตร 6: 1) และลดความซับซ้อนของตัวอย่าง โดยตัดแผ่น TLC อย่างจำเพาะออกเป็น 4 ส่วน ก่อนการสกัดสารระเหยง่ายโดยใช้เทคนิคการสกัดด้วย วัฏภาคของแข็งระดับจุลภาค (HS-SPME) เตรียมตัวอย่างเพื่อเลือกสกัดสารกลุ่มระเหยง่ายโดยการให้ความร้อนอุณหภูมิ 80˚C เป็นเวลา 15 นาที และวิเคราะห์ด้วยแก๊สโครมาโทกราฟี-แมสสเปกโทรเมตรี (GC-MS) ถ้าไม่ได้เตรียมตัวอย่างด้วยวิธี TLC ที่พัฒนาขึ้นมา พบว่าสารประกอบ Cyclohexene, 1-methyl-5-(1-methylethenyl)-,(R)-; 1-Propanol, 2-(2-hydroxypropoxy)-; γ-Terpinene; 7-Octen-2-ol, 2,6-dimethyl-; 2,4-Heptadienal, 2,4-dimethyl- และ cis-Thujopsene ในน้ำหอมถูกบดบังโดยสารประกอบ Limonene , Linalool, α-Ionone และ α -Guaiene จากเมทริกซ์ของน้ำมันกฤษณาสังเคราะห์ แต่เมื่อนำวิธี TLC มาประยุกต์แยกวิเคราะห์ 4 ส่วน ทำให้สามารถแยกวิเคราะห์และระบุพีคของสารในน้ำหอมจากการถูกบดบังของเมทริกซ์ได้สำเร็จ นอกจากนี้การนำเทคนิค TLC แบบจำเพาะมาใช้โดยตรงกับแก๊สอนาไลเซอร์ เครื่องวิเคราะห์แก๊สมาวิเคราะห์สารเป้าหมายบนแผ่น TLC อย่างจำเพาะโดยไม่ผ่าน HS-SPME เป็นการเสนอแนวทางในการวิเคราะห์สารประกอบให้กลิ่นเป้าหมายบนแผ่น TLC โดยตรงซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย รวดเร็วและใช้เครื่องมือราคาคุ้มค่า