Abstract:
วิทยานิพนธ์เรื่อง “ความเป็นวีรชนคนสามัญในละครไทยพีบีเอส” เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การสร้างสรรค์ความเป็นวีรชนคนสามัญในละครไทยพีบีเอส และ 2) วิเคราะห์ลักษณะความเป็นวีรชนคนสามัญที่ปรากฏในละครไทยพีบีเอส โดยใช้การวิเคราะห์ตัวบท (textual analysis) จากละครไทยพีบีเอสจำนวน 7 เรื่อง ประกอบกับการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้สร้างสรรค์และผู้ควบคุมการผลิตละครไทยพีบีเอส นักวิชาการ และการสนทนากลุ่มกับตัวแทนสภาผู้ชมผู้ฟังไทยพีบีเอส
ผลการวิจัยพบว่าการสร้างสรรค์ความเป็นวีรชนคนสามัญในละครไทยพีบีเอสมักนำเสนอในรูปแบบละครยาวแนวชีวิตและอิงประวัติศาสตร์ มักมีโครงสร้างการเล่าเรื่องแบบไม่เรียงลำดับเหตุการณ์ จุดเริ่มต้นในการออกเดินทางต่อสู้ของวีรชนคนสามัญแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ 1) เห็นผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน 2) ตนเองได้รับความเดือดร้อน วัตถุประสงค์การต่อสู้ ได้แก่ 1) ด้านคุณธรรมจริยธรรม และ 2) ท้าทายและต่อต้านค่านิยมหรือกฎเกณฑ์อันไม่ชอบธรรมในสังคม ลักษณะวีรชน คนสามัญในละครไทยพีบีเอสมักมีความเป็นมนุษย์ที่สมจริง มีตัวละครฝ่ายสนับสนุน 3 ประเภท ได้แก่ 1) ครอบครัว 2) เพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน และ 3) ผู้ทรงภูมิความรู้หรือนักบวช ส่วนตัวละครผู้ร้ายมักมิใช่ผู้ร้ายตามขนบ ได้แก่ 1) ผู้มีอำนาจทางการปกครอง 2) ผู้บังคับบัญชา 3) ครอบครัว และ 4) ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจ ส่วนความขัดแย้งที่พบแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ความขัดแย้งกับสังคม และ 2) ความขัดแย้งภายในจิตใจของตนเอง ในด้านฉากการต่อสู้ของวีรชนคนสามัญมักเกิดในที่ทำงานและที่บ้านเป็นหลัก ส่วนจุดจบของวีรชนคนสามัญแบ่งได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1) สานต่อความฝันหรือการผจญภัยบทใหม่ 2) กลับถิ่นฐานบ้านเกิด และ 3) ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
นอกจากนี้ยังพบว่าคุณลักษณะสำคัญที่เป็นจุดร่วมของวีรชนคนสามัญในละครไทยพีบีเอส คือความกล้าหาญเสียสละเพื่อคนในสังคมและที่สำคัญคือการเอาชนะอุปสรรคภายในหรือจิตใจฝ่ายต่ำของตนเองไปให้ได้ ส่วนลักษณะการต่อสู้เป็นการสู้โดยปราศจากอาวุธ อีกทั้งวีรชนคนสามัญในละครไทยพีบีเอสมักมีทุกเพศทุกวัยและปรากฏอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย