Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาพตัวแทนของผู้หญิงล้านนาในละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคบริบทภาคเหนือ โดยศึกษาละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคบริบทภาคเหนือจำนวน 3 เรื่อง ซึ่งออกอากาศทางช่อง 3HD ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 งานวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอนคือ 1.การวิเคราะห์ตัวบทละคร 2.การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ผลิต ได้แก่ ผู้เขียนบทละครโทรทัศน์และผู้จัดละครโทรทัศน์ 3.การจัดกลุ่มสนทนาผู้ชมละครโทรทัศน์ที่เป็นผู้หญิงล้านนา
ผลการวิจัยพบว่า ภาพตัวแทนของผู้หญิงล้านนาในละครโทรทัศน์แนวย้อนยุคบริบทภาคเหนือทั้ง 3 เรื่อง มีการสร้างภาพตัวแทนของความเป็นแม่ ความเป็นเมีย และความเป็นลูกสาว ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัวทั้งสิ้น ผู้หญิงล้านนาส่วนใหญ่มีหน้าที่สนับสนุนความสำเร็จของคู่ครองและทำหน้าที่ดูแลทุกอย่างภายในบ้าน ดังนั้นการถ่ายทอดอุดมการณ์ทางความคิดจากรุ่นสู่รุ่นจึงตกเป็นหน้าที่ของผู้หญิง ภาพตัวแทนผู้หญิงล้านนาในละครบางเรื่องจึงแสดงออกถึงความเป็นแม่และความเป็นเมียควบคู่กัน
ภาพตัวแทนของผู้หญิงล้านนาที่แสดงออกมา มีการประกอบสร้างภาพตัวแทนโดยการนำบริบทของวัฒนธรรมปัจจุบันผสมผสานเข้าไปกับวัฒนธรรมล้านนาแบบดั้งเดิม ดังนั้นภาพตัวแทนที่แสดง จึงเป็นสิ่งที่กระทบเข้าไปในการรับรู้และความรู้สึกของผู้ชม เนื่องจากภาพตัวแทนที่เห็นนั้นเป็นเหมือนภาพสะท้อนของตัวเอง ก่อให้เกิดการตั้งคำถามว่าเราควรทำหรือไม่ควรทำตามภาพสะท้อนที่เห็น และถ้าเราอยู่ ณ เวลานั้นในอดีต เราจะทำอย่างไร อีกประการ การสร้างภาพตัวแทนผู้หญิงล้านนาในละคร ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงทางสังคมในหลายแง่มุม เพราะสิ่งที่ปรากฏในละครบางอย่างยังคงอยู่ในปัจจุบัน