Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออธิบายความแตกต่างระหว่างกลุ่มผู้บริโภคที่มีระดับการสนับสนุนต่างกันต่อคุณค่าตราสินค้าและความตั้งใจซื้อสินค้าหรือการบริการจากตราสินค้าที่เคลื่อนไหวเพื่อการสมรสเท่าเทียม และความสัมพันธ์ของคุณค่าตราสินค้ากับความตั้งใจซื้อสินค้าหรือการบริการจากตราสินค้าที่เคลื่อนไหวเพื่อการสมรสเท่าเทียม ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ เทคนิคการสำรวจ ด้วยแบบสอบถามออนไลน์ มีกลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิต นักศึกษาเจนเนเรชั่นแซดอายุระหว่าง 18 – 24 ปี ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในประเทศไทย และเลือก แสนสิริ เป็นตราสินค้าสำหรับการวิจัยโดยกระจายแบบสอบถามผ่านช่องทางทวิตเตอร์ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ได้รับแบบสอบถามที่สมบูรณ์จำนวน 421 ชุด
ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการสนับสนุนต่างกันจะรับรู้คุณค่าตราสินค้าโดยรวมและรายด้านทุกด้านของตราสินค้าที่เคลื่อนไหวเพื่อการสมรสเท่าเทียม ต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยค่าเฉลี่ยระดับการสนับสนุนของกลุ่มที่มีท่าทีสนับสนุนมากสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับการสนับสนุนของกลุ่มที่มีท่าทีสนับสนุนน้อยในทุกด้าน และกลุ่มตัวอย่างที่มีระดับการสนับสนุนต่างกันจะมีความตั้งใจซื้อสินค้าหรือการบริการจากตราสินค้าที่เคลื่อนไหวเพื่อการสมรสเท่าเทียมต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ .05 โดยค่าเฉลี่ยระดับการสนับสนุนของกลุ่มที่มีท่าทีสนับสนุนมากสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับการสนับสนุนของกลุ่มที่มีท่าทีสนับสนุนน้อย ทั้งนี้คุณค่าตราสินค้ามีความสัมพันธ์ในระดับสูงกับความตั้งใจซื้อสินค้าหรือการบริการจากตราสินค้าที่เคลื่อนไหวเพื่อการสมรสเท่าเทียม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างไม่แน่ใจว่าเคยได้ยินหรือเห็นการเคลื่อนไหวของตราสินค้าต่อประเด็นที่เป็นกระแสในปัจจุบัน และเชื่อว่าตราสินค้ามีหน้าที่ในการเป็นกระบอกเสียงให้กับสังคมและย่อมทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น รวมถึงจะมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะซื้อสินค้าหรือบริการจากตราสินค้าที่ออกมาแสดงจุดยืนตรงกัน และจะสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะมีแนวโน้มน้อยลงที่จะสนับสนุนตราสินค้าที่ออกมาแสดงจุดยืนในทางตรงกันข้าม