Abstract:
การวิจัยเชิงสำรวจในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การออกแบบยูสเซอร์อินเทอร์เฟสสำหรับโมไบล์แอปพลิเคชัน ความรู้สึกของผู้บริโภค (ได้แก่ อารมณ์ ทัศนคติต่อการใช้งานโมไบล์แอปพลิเคชัน ทัศนคติต่อตราสินค้า และความไว้วางใจได้) และประสบการณ์ของผู้บริโภค (ได้แก่ ความพึงพอใจ ความถี่ในการซื้อ และความภักดีต่อการใช้งานโมไบล์แอปพลิเคชัน) และ 2) อิทธิพลของการออกแบบยูสเซอร์อินเทอร์เฟสสำหรับโมไบล์แอปพลิเคชัน ต่อความรู้สึกและประสบการณ์ของผู้บริโภค โดยใช้แบบสอบถาม เก็บข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์ จาก 1) กลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 20 – 39 ปี ที่มีการดาวน์โหลดและเคยซื้อสินค้าผ่านโมไบล์แอปพลิเคชันของตราสินค้า UNIQLO อย่างน้อย 1 ครั้ง ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 325 คน และ 2) กลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 20 – 39 ปี ที่มีการดาวน์โหลดและเคยซื้อสินค้าผ่านโมไบล์แอปพลิเคชันของตราสินค้า H&M อย่างน้อย 1 ครั้ง ในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา จำนวน 242 คน รวมทั้งหมด 567 คน ผลการวิจัยพบว่า การออกแบบยูสเซอร์อินเทอร์เฟส ความรู้สึกของผู้บริโภค และประสบการณ์ของผู้บริโภคตราสินค้า UNIQLO และตราสินค้า H&M แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยสำหรับตราสินค้า UNIQLO การออกแบบยูสเซอร์อินเทอร์เฟสสำหรับโมไบล์แอปพลิเคชัน ในมิติของสุนทรียศาสตร์ในการออกแบบ และการรับรู้ถึงความมีประโยชน์ มีอิทธิพลต่อความรู้สึกและประสบการณ์ของผู้บริโภคมากที่สุด ขณะที่การออกแบบยูสเซอร์อินเทอร์เฟสสำหรับโมไบล์แอปพลิเคชัน ในมิติของการรับรู้ถึงความเพลิดเพลิน มีอิทธิพลต่อความรู้สึกและประสบการณ์ของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าผ่านโมไบล์แอปพลิเคชันของตราสินค้า H&M มากที่สุด