Abstract:
ความหลากหลายของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานแต่ละชนิดมีพื้นที่อาศัยที่แตกต่างกัน พื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะพื้นที่ที่มีระบบนิเวศหลากหลาย ทั้งพื้นที่ระบบนิเวศเกษตรและพื้นที่ระบบนิเวศธรรมชาติ โดยแต่ละพื้นที่จะมีการจัดการและการใช้ประโยชน์แตกต่างกัน การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหลากหลายของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานและตรวจสอบพื้นที่อาศัยของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานแต่ละชนิดว่ามีที่อยู่อาศัยแตกต่างกันหรือไม่ ผู้วิจัยใช้วิธีสำรวจแบบพบเห็นตัว (Visual Encounter Survey) ในการสำรวจความหลากชนิด และระบุชนิดโดยใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยา ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 พบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 13 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 6 ชนิด ในพื้นที่เกษตรกรรม และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 15 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 5 ชนิด ในพื้นที่ธรรมชาติ ทั้งนี้ค่าดัชนีความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งสองพื้นที่นั้นมีค่าใกล้เคียงกันทั้ง Shannon–Weiner’s Index (1.9958 และ 2.1618 ตามลำดับ) และ Simpson’s Diversity Index (0.7525 และ 0.8363 ตามลำดับ) นอกจากนี้ยังพบว่าค่าดัชนีความคล้ายคลึง (Sørensen Similarity Index) แสดงถึงความคล้ายคลึงในแง่ของชนิดร้อยละ 61.54 ในระหว่างสองพื้นที่ และเมื่อวิเคราะห์ทางสถิติด้วย Chi–square test พบว่า อึ่งลายเลอะ (Microhyla butleri) และอึ่งน้ำเต้า (Microhyla mukhlesuri) ชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่าพื้นที่ธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่กบห้วยขาปุ่ม (Limnonectes taylori) อึ่งข้างดำ (Microhyla heymonsi) และอึ่งหลังขีด (Micryletta steingeri) ชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติมากกว่าพื้นที่เกษตรกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปเป็นฐานข้อมูลเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการพื้นที่และการอนุรักษ์สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลานในพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ต่อไป