Abstract:
ที่มา ปัจจัยเสี่ยงทางโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ ที่ค้นพบขึ้นใหม่ (emerging cardiovascular risk factors) ได้แก่การลดความยืดหยุ่นของหลอดเลือด (arterial stiffness) ความผิดปกติของการทำงานของเซลล์เอนโดทีเลียม (endothelial dysfunction) อาจมีส่วนสำคัญในการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบได้ วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อศึกษาความแตกต่างในด้านค่าเฉลี่ยของความไม่ยืดหยุ่นของหลอดเลือดและความผิดปกติของการทำงานของเซลล์เอนโดทีเลียมในผู้ป่วยไทยที่มีหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน เปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม วิธีการศึกษา ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย และกลุ่มควบคุมที่มีอายุและเพศเข้ากันได้กับผู้ป่วย ได้รับการวัดความไม่ยืดหยุ่นของหลอดเลือดโดยใช้ SphygmoCor apparatus และวัดความผิดปกติของการทำงานของเซลล์เอนโดทีเลียมวัดโดยเครื่องมือ EndoPAT-2000 system ในระหว่างที่เข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน และที่ 6 เดือนหลังจากการเกิดโรค ผลการศึกษา ผู้ป่วย 40 รายและกลุ่มควบคุม 36 ราย พบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลันมีค่าความไม่ยืดหยุ่นของหลอดเลือดสูงกว่ากลุ่มควบคุม (CF-PWV 10.50±2.96 m/s และ 8.24±1.77 m/s ตามลำดับ p=0.000) ในทางตรงกันข้ามพบว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติของการทำงานของเซลล์เอนโดทีเลียมน้อยกว่ากลุ่มควบคุม (RHI 2.30±0.65% และ 2.02±0.06% ตามลำดับ, p=0.056) เมื่อได้ทำการพิจารณาค่าความดันโลหิตร่วมด้วยพบว่าค่าความไม่ยืดหยุ่นของหลอดเลือดของผู้ป่วยนั้นสูงกว่ากลุ่มควบคุมจริง และเมื่อติดตามผู้ป่วยต่อไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน พบว่าค่าความไม่ยืดหยุ่นของหลอดเลือดลดลง แต่ยังคงสูงกว่ากลุ่มควบคุม สรุปผลการศึกษา ค่าความไม่ยืดหยุ่นของหลอดเลือดของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบสูงกว่ากลุ่มควบคุม แต่ไม่พบความผิดปกติของการทำงานของเซลล์เอนโดทีเลียมในกลุ่มผู้ป่วย