Abstract:
การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดการเรียนรู้จากประสบการณ์และแนวคิดประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมการรู้สิ่งแวดล้อมสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ 1) การศึกษาข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอน 2) การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน 3) การศึกษาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน และ 4) การนำเสนอการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตสังกัดสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานครแห่งหนึ่ง จำนวน 32 คน ทำการเลือกแบบเฉพาะเจาะจง ระยะเวลาในการดำเนินการทดลอง 12 สัปดาห์ รวม 36 คาบ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบวัดการรู้สิ่งแวดล้อม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีหลักการสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1) การเชื่อมโยงประสบการณ์เดิมกับประสบการณ์ใหม่ที่เป็นรูปธรรมและสัมพันธ์กับชีวิตจะเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ ทำให้มุมมองของผู้เรียนเกิดการขยายตัวหรือหดตัว ค้นพบมุมมองใหม่ ทำความเข้าใจ รับมือและประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่ตามมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2) การนำเสนอประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมและสัมพันธ์กับชีวิตในช่วงต้นของการเรียนการสอน จะช่วยกระตุ้นความสนใจ และผลักดันให้ผู้เรียนเริ่มต้นเรียนรู้ ตั้งจุดมุ่งหมายในการเรียนและเกิดแรงจูงใจในการเรียน 3) ผู้เรียนศึกษาสำรวจประเด็น ไตร่ตรองสะท้อนคิด จนสร้างความคิดรวบยอดและพัฒนามโนทัศน์พื้นฐานและการปฏิบัติด้วยกระบวนการสร้างความรู้จากปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับสิ่งแวดล้อม และ 4) การเสริมต่อการเรียนรู้ในบรรยากาศที่เปิดกว้างทางความคิด บูรณาการมิติด้านคุณธรรมจริยธรรมในการให้เหตุผลภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทายมุมมองของแต่ละฝ่าย และผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนรู้เชิงรุก จะช่วยกระตุ้นทักษะการคิดและการปฏิบัติขั้นสูง ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่เหมาะสม ประกอบด้วย 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) นำเสนอประเด็นปัญหา 2) สำรวจความเชื่อเดิม 3) สืบสอบหลักฐาน 4) เสริมต่อการเรียนรู้ 5) สะท้อนประสบการณ์ และ 6) ประยุกต์ในสถานการณ์ใหม่
2. ประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอน พบว่า นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยการรู้สิ่งแวดล้อมหลังเรียนสูงขึ้นกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในทุกองค์ประกอบของการรู้สิ่งแวดล้อม และนักเรียนมีพัฒนาการการรู้สิ่งแวดล้อมในช่วงระหว่างการเรียนการสอนสูงขึ้น