Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนากระบวนการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนโดยการประยุกต์ใช้กระบวนการ DMAIC 2) ศึกษาประสิทธิภาพของกระบวนการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนและ 3) ศึกษาปัจจัยเอื้อและปัญหาอุปสรรคในการใช้กระบวนการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนาโดยใช้กรณีศึกษาในโรงเรียนมัธยม ซึ่งการดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือระยะที่ 1 การพัฒนากระบวนการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน และระยะที่ 2 การนำกระบวนการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนไปใช้ โดยใช้เวลาในการนำกระบวนการไปใช้ 16 สัปดาห์ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) กระบวนการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มีขั้นตอนของกระบวนการ 6 ขึ้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 การระบุปัญหา ขั้นที่ 2 การวัดขนาดของปัญหา ขั้นที่ 3 การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา ขั้นที่ 4 การเลือกและการทดลองใช้วิธีการแก้ปัญหา ขั้นที่ 5 การปรับปรุงวิธีการแก้ปัญหา และขั้นที่ 6 การควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาเดิมอีก 2) ครูสามารถดำเนินการตามกระบวนการปรับปรุงคุณภาพการจัดการเรียนการสอนได้ทุกขั้นตอน โดยทีมมาจากครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เลือกแก้ไขปัญหาหนึ่งปัญหา คือนักเรียนขาดทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ สาเหตุหลักของปัญหาคือการขาดการเตรียมการสอนและการจัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ วิธีการแก้ปัญหาคือการใช้กระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมทักษะแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ โดยมีการนิเทศ และการทำบันทึกหลังการเรียนการสอนเพื่อนำมาปรับปรุงการสอน ผลของการดำเนินงาน พบว่า ครูมีการวางแผนและออกแบบการเรียนการสอนตามทฤษฎีและหลักการ มีการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้และการดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอนตามขั้นตอนของกระบวนการเรียนการสอน และมีการบันทึกหลังสอนเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน ส่วนในขั้นตอนของการควบคุมไม่ให้เกิดปัญหาเดิมอีก ครูใช้กระบวนการเรียนการสอนที่ส่งเสริมทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และครูใช้กระบวนการปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนนี้ต่อไป นักเรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้ และนักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยของทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์หลังการใช้กระบวนการเรียนการสอนสูงกว่าก่อนการใช้กระบวนการเรียนการสอน 3) ปัจจัยเอื้อต่อการใช้กระบวนการ คือ (1) ผู้บริหารของโรงเรียนให้การสนับสนุน (2) การวางแผนและติดตามโครงการอย่างต่อเนื่อง (3) ปัจจัยเอื้อต่อการใช้กระบวนการ คือ (1) ผู้บริหารของโรงเรียนให้การสนับสนุน (2) การวางแผนและติดตามโครงการอย่างต่อเนื่อง (3) การบริหารโครงการที่ยืดหยุ่น (4) การบริหารโครงการแบบมีส่วนร่วม (5) แรงจูงใจของครูผู้ร่วมโครงการ และ (6) ความร่วมมือของครูผู้ร่วมโครงการ ส่วนปัญหาอุปสรรคต่อการใช้กระบวนการ คือ (1) หัวหน้าโครงการขาดอำนาจในการสั่งการและการเจรจาต่อรอง (2) เป็นโครงการใหม่ที่เริ่มทำครั้งแรก (3) ข้อจำกัดในด้านบริบท/วัฒนธรรมการทำงานของครู (4) ขาดการให้ความร่วมมือของครูผู้ร่วมโครงการ (5) กิจกรรมจำนวนมากของโรงเรียน (6) การขาดความรู้และทักษะของครู