Abstract:
QR code เป็นรหัส 2 มิติ ตอบสนองเร็วที่สามารถใช้เสริมระบบฐานข้อมูล ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเรียกดูข้อมูลได้ รหัสระบบนี้มีข้อเด่นที่มีขนาดที่เล็ก บรรจุข้อมูลได้มาก อ่านได้อย่างรวดเร็ว ใช้หน่วยความจำน้อย เรียกข้อมูลจาก QR Code ที่มีรอยฉีกขาด ในระดับ 30% ได้และที่สำคัญสามารถอ่านโดยตรงด้วยโทรศัพท์มือถือ การพัฒนาระบบ QR code สัมพันธ์กับการสร้างฐานข้อมูล การแปลงฐานข้อมูลแต่ละรายการให้อยู่ในรูปที่เชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ต การออกแบบการเรียกข้อมูล การสร้างเว็บเพจข้อมูล การแปลงระเบียนให้เป็นสัญลักษณ์ QR code และการทดสอบการใช้งาน การศึกษาพบว่าสามารถนำ QR code มาประยุกต์ใช้ในการควบคุมกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารได้ ในขั้นต้นได้สร้างโมเดลต้นแบบในการพัฒนาระบบ QR code สำหรับควบคุม กำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ โดยได้ฐานข้อมูล จากรายการความปลอดภัยทางอาหารในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ ทั้งหมด 7314 รายการในรูปเครือข่ายอินเตอร์เน็ตออนไลน์แบบอินเตอร์แอกทีฟ โดยใช้โปรแกรม Keywa Reader สำหรับอ่านรหัส สามารถตรวจสอบข้อมูลความปลอดภัยของอาหารเสริมสุขภาพ เช่น ข้อมูลวัตถุดิบ ข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูลการรับรองผลิตภัณฑ์ ข้อมูลวิชาการ และข้อมูลคำเตือน ผ่านระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ การทดสอบในร้านสหกรณ์จุฬาฯ แสดงให้เห็นว่าระบบที่พัฒนาขึ้นสามารถดำเนินการในรูปแบบ QR code ได้จริง โดยการทำงานและใช้งานไม่ซับซ้อน แต่ยังมีจุดอ่อนที่ข้อมูลที่ได้จาก อ.ย. ยังไม่ครอบคลุมสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพที่ปรากฎในท้องตลาดและปัญหาข้อกฎหมายในการห้ามเผยแพร่ข้อมูลที่อาจเชื่อมโยงกับการโฆษณา การปรับจุดอ่อนร่วมกันของทีมงานของโครงการ อย. ภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการ และการกำหนดขอบเขตข้อมูลจะช่วยให้การตรวจสอบทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้นำองค์ความรู้ไปขยายผลโดยสร้างโมเดลประยุกต์ในการพัฒนาระบบ QR code สำหรับการรับรองคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหารในโมเดลมะม่วงเพื่อการส่งออกภายใต้มาตรฐาน EUrep G.A.P.TM (Global G.A.P.) สำหรับมะม่วงเป็นไม้ผลส่งออกทีสำคัญของประเทศการรับรองคุณภาพ และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์มะม่วง หลังการส่งออก เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยรักษาชื่อเสียง และมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ในระยะยาว จึงได้นำรหัส 2 มิติมาประยุกต์ ใช้จัดกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตมะม่วง ในเขตอำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก ในระหว่างปีการผลิต 2009—0 โดยจัดทำฐานข้อมูลการรับรองความปลอดภัย และข้อมูลทางสรีรวิทยาหลังการเก็บเกี่ยว ในชุดฐานข้อมูล Online และใช้รหัส 2 มิติ เป็นสื่อในการแปลง การสื่อสารข้อมูลคุณภาพและความปลอดภัยนั้น ให้อยู่ในรูปที่สืบค้นได้อัตโนมัติ เพื่อช่วยให้การสื่อสารข้อมูล คุณภาพ และความปลอดภัย ในระหว่างการผลิต และภายหลังการเก็บเกี่ยวไปสู่มือผู้บริโภค โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่จากลูกค้าปลายทาง การสืบค้นผ่านรหัส 2 มิติ จะช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลคุณภาพ และความปลอดภัย ณ จุดรับผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรับรองคุณภาพภายหลังการเก็บเกี่ยวให้สามารถทำให้สอดคล้องเวลาจริง โดยไม่มีข้อการจำกัดด้านระยะทาง นอกจากนี้ได้ดำเนินการพัฒนาระบบ QR code สำหรับการรับรองพันธุ์ทุเรียนคุณภาพสายพันธุ์ท้องถิ่น โดยจัดทำฐานข้อมูลคุณภาพ โดยเฉพาะข้อมูลลักษณะพฤกษศาสตร์พันธุ์ จุดเด่น และข้อมูลคุณภาพของเนื้อผล ในชุดฐานข้อมูล Online และใช้รหัส 2 มิติ เป็นสื่อในการแปลง และสื่อสารข้อมูลคุณภาพ ให้อยู่ในรูปที่สืบค้นได้อัตโนมัติ ช่วยให้การสื่อสารข้อมูลการรับรองพันธุ์แท้หรือความตรงพันธุ์ทำได้โดยง่าย สำหรับการประยุกต์ใช้ในการสื่อสารข้อมูลความปลอดภัยผลิตภัณฑ์อาหารในกลุ่มขนมขบเคี้ยวสำหรับเด็ก ได้การศึกษาข้อมูลขนมขบเคี้ยว โดยพบว่าการให้ข้อมูลโภชนาการ ส่วนประกอบของอาหารโดยเฉพาะ ไขมัน แป้ง เกลือ และ สารปรุงแต่งไม่เหมาะสมหรือสอดคล้องกับเกณฑ์ที่นักโภชนาการแนะนำ และจากข้อมูลที่รวบรวมได้ ได้สร้างฐานข้อมูลเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้โปรแกรมฐานข้อมูล ไมโครซอฟท์ แอคเซส (Microsoft Access) เชื่อมต่อฐานข้อมูล Online และใช้รหัส 2 มิติ เป็นสื่อในการแปลง และสื่อสารข้อมูลความปลอดภัยและคำเตือน ให้สามาถตรวจสอบได้โดยผู้บริโภคโดยได้นำไปใช้งานจริงโดยในขั้นต้นได้เชื่อมโยงกับเว็บไซด์กินเปลี่ยนโลก