Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาคุณลักษณะการสื่อสารของนวัตกรที่มีประสิทธิผลในเครือข่ายสังเคราะห์นวัตกรรมของประเทศไทย เป็นการวิจัยเพื่อการสำรวจหรือการวิจัยเชิงบุกเบิกด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มตัวอย่างเป็นนวัตกรที่มีประสิทธิผล (มีผลงานอย่างต่อเนื่อง) จำนวน 20 ท่าน คัดเลือกแบบหลายขั้นตอนร่วมกับการคัดเลือกแบบเจาะจงจากฐานข้อมูลสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช้การสัมภาษณ์เจาะลึกเป็นเครื่องมือหลักในการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ด้วยการวิเคราะห์แก่นสาระ ผลการวิจัยแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ
1. โครงสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์: เครือข่ายสังเคราะห์นวัตกรรมที่นวัตกรที่มีประสิทธิผลสังกัด ประกอบด้วยสมาชิกความเชี่ยวชาญหลากหลาย (สหวิทยาการ/สหวิชาชีพ) แต่มีทัศนคติและวิธีคิดสอดคล้องกัน จึงทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมาชิกในเครือข่ายฯ ได้รับมอบหมายบทบาทแตกต่างกันตามศักยภาพ และมีความสัมพันธ์กันบนพื้นฐานการทำงานเป็นหลัก โดยเครือข่ายฯ มีผู้นำ (มักได้แก่ตัวนวัตกรที่มีประสิทธิผล) รวมถึงผู้จัดการที่มีทักษะการสื่อสาร มีภาวะผู้นำสูง รอบรู้หลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง ตัดสินใจในแต่ละขั้นตอนได้เร็ว รวมถึงมีทักษะการบริหารจัดการที่สามารถควบคุมปัจจัยในการทำงานที่ยากภายใต้ข้อจำกัดด้านทรัพยากรและเวลาได้ นอกจากนี้ นวัตกรในเครือข่ายฯ จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากสามารถ 1) เชื่อมโยงกับสมาชิก/หน่วยงานที่มีต้นทุนทางสังคมสูง ได้แก่ สมาชิก/หน่วยงานที่มีชื่อเสียง เป็นที่ยอมรับระดับสูง และ/หรือมีเครือข่ายด้านแหล่งทุนที่พร้อมและเอื้อต่อการทำงาน และ 2) ดำเนินงานภายใต้องค์กรที่มีระบบงานสนับสนุนซึ่งเอื้อต่อกระบวนการสังเคราะห์นวัตกรรม หรือเอื้อต่อการพัฒนาเครือข่ายสังเคราะห์นวัตกรรมให้เป็นหน่วยงานใหม่ที่มีข้อจำกัดในการทำงานน้อยลง
2. พฤติกรรมการสื่อสาร: สมาชิกเครือข่ายสังเคราะห์นวัตกรรมที่นวัตกรที่มีประสิทธิผลสังกัด มักเปิดกว้างทางความคิดแต่ยังปรากฏการคิดตามกลุ่ม (groupthink) บ้าง มักทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มย่อยแบบไม่เป็นทางการ เพราะคล่องตัวและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที มีพฤติกรรมการแลกเปลี่ยนข้อมูล/การถ่ายทอดความรู้แบบทุกทิศทางและเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยการแสดงความคิดเห็นที่เป็นที่ยอมรับต้องมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุน ในกรณีของการทำงานเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อตัดสินใจหรือแก้ไขปัญหาร่วมกัน สมาชิกเครือข่ายฯ จะโต้แย้งแสดงเหตุผลเพื่อลดให้เหลือเฉพาะตัวเลือกที่สำคัญแล้วให้ผู้นำเครือข่ายตัดสินใจอีกครั้ง นอกจากนี้ แนวทางสำคัญของการสื่อสารภายในเครือข่ายฯ ได้แก่ 1) การเปิดกว้างให้สมาชิกสื่อสารได้ทุกเรื่อง 2) ผู้นำ/ผู้จัดการควรสร้างกระบวนการทำงานและการสื่อสารที่ถูกต้อง ชัดเจน รวดเร็ว 3) สมาชิกควรมีทักษะในการสื่อสารให้เข้าใจง่าย และทราบว่าต้องสื่อสารเรื่องใด กับใคร อย่างไร และ 4) มีการจัดการความรู้ (เช่น จัดทำคู่มือ รายงาน แนวปฏิบัติที่ดี ฯลฯ) เพื่อลดขั้นตอนในสิ่งที่ต้องสื่อสารกันบ่อยครั้ง