Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสอดคล้องของการประเมินพัฒนาการทารกระหว่างมารดากับผู้ประเมินมืออาชีพ ในการประเมินพัฒนาการของทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวน้อยมาก และทารกคลอดครบกำหนด วัย 6 เดือน กลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 120 คู่ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 มารดาที่มีระดับการศึกษาต่ำและทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวน้อยมาก จำนวน 30 คู่ กลุ่มที่ 2 มารดาที่มีระดับการศึกษาสูงและทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีน้ำหนักตัวน้อยมาก จำนวน 30 คู่ กลุ่มที่ 3 มารดาที่มีระดับการศึกษาต่ำ และทารกคลอดครบกำหนด จำนวน 30 คู่ และกลุ่มที่ 4 มารดาที่มีระดับการศึกษาสูง และทารกคลอดครบกำหนด จำนวน 30 คู่ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินพัฒนาการ Denver II แบบประเมินพัฒนาการ Infant Mullen Scales of Early Learning แบบสัมภาษณ์มารดาเพื่อการคัดกรองพัฒนาการทารก และแบบสัมภาษณ์มารดาเพื่อการวินิจฉัยพัฒนาการทารก นำข้อมูลมาวิเคราะห์โดยใช้เปอร์เซ็นต์ความสอดคล้อง (Percentage agreement) และสถิติ Kappa (K) ซึ่งการนำค่าสถิติ Kappa มาใช้ในการวิจัยครั้งนี้เพื่อต้องการปรับแก้ความสอดคล้องที่อาจเกิดขึ้นจากความบังเอิญ ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า มารดาสามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำทางด้านพัฒนาการทารกวัย 6 เดือน โดยพบว่า การประเมินพัฒนาการทารกเพื่อการคัดกรองมีค่าความสอดคล้องระหว่างมารดากับผู้ประเมินมืออาชีพในระดับสูงถึงสูงมาก (เปอร์เซ็นต์ความสอดคล้อง 89.50-100.00%, K = 0.65-100) และการประเมินพัฒนาการทารกเพื่อการวินิจฉัยมีค่าความสอดคล้องระหว่างมารดากับผู้ประเมินมืออาชีพในระดับปานกลางเกือบสูงถึงสูงมาก (เปอร์เซ็นต์ความสอดคล้อง 89.10-100.00%, K = 0.52-1.00) ในทุกกลุ่มตัวอย่าง