Abstract:
ศึกษาการให้ความหมายของการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง ตามทัศนะของเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้งหรือพีเน็ท กับทัศนะของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพีเน็ทและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โดยใช้วิธีการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร ควบคู่กับการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยกำหนดขอบเขตของการศึกษาไว้ที่การเลือกตั้ง ที่พีเน็ทเข้าไปมีส่วนร่วมกับ คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดแรกของไทย ซึ่งมีสมมติฐานไว้ว่า สภาวะทางสองแพร่งของการมีส่วนร่วมขององค์กรพัฒนาเอกชน ในการเลือกตั้งมีที่มาจากปัญหาสองประการคือ ประการแรก พีเน็ทและคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมแตกต่างกัน ในประเด็นเรื่องความเป็นอิสระ และประการที่สอง ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพีเน็ท และคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นไปในทางปรปักษ์มากกว่าร่วมมือกัน ผลการศึกษาพบว่า สภาวะทางสองแพร่งของการมีส่วนร่วม ขององค์กรพัฒนาเอกชนในการเลือกตั้ง มีที่มาจากปัญหาสองประการดังนี้ คือ ประการแรก พีเน็ทและคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมแตกต่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความเป็นอิสระในด้านการบริหารกิจกรรม และด้านการใช้จ่ายการเงิน ในขณะที่ปัจจัยด้านการจัดโครงสร้างองค์กร ปัจจัยด้านผู้นำ และคุณภาพบุคลากร เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของพีเน็ท ในการมีส่วนร่วมตรวจสอบการเลือกตั้งได้อย่างอิสระ ส่วนปัญหาประการที่สองคือ ลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างพีเน็ทและคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นไปในทางปรปักษ์มากกว่าร่วมมือกัน ทั้งนี้เนื่องมาจากสาเหตุสำคัญ 4 ประการคือ (1) การมีวิธีคิดที่แตกต่างกัน (2) ลักษณะงานที่เป็นปรปักษ์ต่อกัน จึงต้องตรวจสอบซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่มีทั้งสองมิติคือ ความร่วมมือกัน และขณะเดียวกันกันก็ตรวจสอบไปด้วย หรือที่เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์แบบคู่ขนาน (3) ปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของข้อมูลการทุจริตการเลือกตั้ง ของพีเน็ทที่ส่งประสานไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น ยังขาดน้ำหนักในสายตาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ (4) ทัศนคติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ไม่เอื้อต่อการทำงานของพีเน็ท โดยเฉพาะในเรื่องสถานภาพที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยทางคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่า พีเน็ทเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้าง ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นคนว่าจ้างมาทำงาน นอกจากนั้น กล่าวได้ว่า การทำงานของพีเน็ท ถือว่าเป็นการเปลี่ยนประชาธิปไตยแบบตัวแทนมาสู่การเป็นประชาธิปไตยแบบประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และเป็นการเสริมสร้างความเป็นประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยการเน้นให้เห็นว่าการลงคะแนนเสียงของประชาชนมีความหมายมากยิ่งขึ้น และเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งในฐานะผู้ใช้สิทธิ และในฐานะเป็นพลเมืองที่ช่วยสอดส่องสังเกตการณ์การเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม