Abstract:
ศึกษาตรวจสอบรากฐานทางความคิดและความเชื่อทางวิชาการของแนวความคิด "การพัฒนา" ของรัฐไทย ซึ่งเป็นตัวกำหนดเจตนารมณ์และทิศทางตลอดจนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการวางแผนพัฒนาประเทศ โดยมุ่งสืบค้นเพื่อตรวจสอบว่า 1. ความหมายของสิ่งที่เรียกว่า "การพัฒนา" นั้น ถูกรัฐไทยสร้างขึ้นมาได้อย่างไรและมีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างไรบ้าง 2. ด้วยรากฐานทางปรัชญาความคิดอะไรที่ทำให้รัฐไทยสร้างความหมายให้กับคำว่า "การพัฒนา" อย่างนั้น 3. วาทกรรมการพัฒนาของรัฐไทยมีบทบาทอย่างไรในสังคมไทย จากการศึกษาวิจัยพบว่า ความหมายของสิ่งที่เรียกว่า "การพัฒนา" นั้น รัฐไทยไม่ได้ให้คำนิยามที่ชัดเจน แต่รัฐไทยพยายามสร้างความหมายของการพัฒนาว่าหมายถึงการทำให้ทันสมัยอย่างสังคมตะวันตก ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจ การพัฒนาอุตสาหกรรม และการพัฒนาการเมือง โดยผูกโยงเข้ากับคำว่า "ความก้าวหน้า" "การเจริญเติบโต" "การมีมาตรฐานการครองชีพ" เท่าเทียมกับประเทศตะวันตก เป็นต้น โดยมีรากฐานทางความคิดและความเชื่อทางวิชาการที่สำคัญสามส่วนด้วยกัน คือ 1. หลักที่ว่ามนุษย์เป็นนายเหนือธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ธรรมชาติจึงเป็นเพียงวัตถุดิบในการผลิต หรือเป็นเพียงเครื่องรองรับความต้องการอันไม่รู้จักจบสิ้นของมนุษย์ 2. หลักความเชื่อมั่นในการใช้ความรู้ทางเทคนิควิทยาการเอาชนะเหนือทั้งธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ เพื่อมนุษย์และสังคมมนุษย์จะพัฒนาก้าวหน้าไปเรื่อยๆ สู่สภาวะที่สมบูรณ์พร้อมในอนาคต 3. หลักความเชื่อในเรื่องความอยู่รอดของผู้แข็งแรงเหมาะสมที่สุด จากรากฐานทางปรัชญาความคิดดังกล่าว "การพัฒนา" ตามแนวความคิดของรัฐไทยถูกนำไปปฏิบัติการทางสังคมในฐานะที่เป็นวาทกรรมชุดหนึ่ง โดยอาศัยอำนาจและกลไกของรัฐ รวมทั้งสถาบันทางสังคมอื่นๆ เพื่อมุ่งผูกขาดอำนาจในการกำหนดหรือสร้างความหมายให้กับคำว่า "การพัฒนา" ในขณะเดียวกันก็ดำเนินการครอบงำ ปิดกั้น หรือกดความรู้ว่าด้วย "การพัฒนา" ในแบบอื่นเอาไว้ โดยเฉพาะความรู้ที่เกิดจากการสั่งสมโดยประสบการณ์ อันมีรากฐานอยู่บนความเชื่อ วิถีชีวิต โลกทัศน์ และภูมิปัญญาตามจารีตหรือขนบของท้องถิ่นต่างๆ