Abstract:
ศึกษาความเครียดในบทบาทของผู้ดูแลผู้สูงอายุ และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ สัมพันธภาพระหว่างผู้ดูแลกับผู้สูงอายุ กับความเครียดในบทบาทของผู้ดูแลผู้สูงอายุ และหาตัวแปรที่ร่วมพยากรณ์ความเครียดในบทบาทของผู้ดูแลผู้สูงอายุ เขตเทศบาลเมือง จังหวัดเพชรบุรี กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 210 คน ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถามความสามารถ ในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ แบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างผู้ดูแลกับผู้สูงอายุ และแบบสอบถามความเครียดในบทบาทของผู้ดูแลผู้สูงอายุ ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ผู้ดูแลผู้สูงอายุมีความเครียดในบทบาทโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า ผู้ดูแลผู้สูงอายุมีความเครียดในบทบาทในระดับต่ำทุกด้าน 2. อายุของผู้ดูแล ความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ และสัมพันธภาพระหว่างผู้ดูแลกับผู้สูงอายุ มีความสัมพันธ์ทางลบกับความเครียดในบทบาทของผู้ดูแลผู้สูงอายุ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 (r = -.23, -.32 และ -.63 ตามลำดับ) 3. สัมพันธภาพระหว่างผู้ดูแลกับผู้สูงอายุ ความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ และอายุของผู้ดูแล สามารถร่วมกันพยากรณ์ความเครียดในบทบาทของผู้ดูแลผู้สูงอายุ ได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีประสิทธิภาพการพยากรณ์ร้อยละ 47.26 (R2 = .4726) ได้สมการพยากรณ์ในรูปคะแนนมาตรฐานดังนี้ Z = -0.566 RELAT - 0.223 ADLT - 0.21 AGE