Abstract:
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเชื่อ ความเข้าใจ รวมถึงการรับรู้ในหลักกรรมของผู้สูงอายุ ศึกษาถึงวิถีชีวิต การมองตนเอง รวมทั้งการปรับตัวของผู้สูงอายุ และเพื่อศึกษาถึงอิทธิพลของความเชื่อเรื่องกรรมที่มีผลต่อการปรับตัวของผู้สูงอายุในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค โดยมีผู้ให้ข้อมูลหลักคือ ผู้สูงอายุที่นับถือพระพุทธศาสนาและพักอาศัยอยู่ในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค จำนวน 10 คน แบ่งเป็นผู้สูงอายุชาย 5 คน และผู้สูงอายุหญิง 5 คนและทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้เทคนิคการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม (Participant Observation) ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interviews) และการศึกษาประวัติชีวิต (Life history studies) ผลการวิจัยพบว่า ความเชื่อ ความเข้าใจรวมถึงการรับรู้เรื่องหลักกรรมของผู้สูงอายุนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้ทางสังคมวัฒนธรรมที่แวดล้อมตนอยู่ เช่น ความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากบรรพบุรุษเรื่อยมา พื้นฐานครอบครัวและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันนำมาสู่การอธิบายหรือเข้าใจในชีวิตที่แตกต่างกันด้วย ผู้วิจัยพบว่ามีความหลากหลายในทัศนะต่อชีวิตและรูปแบบการใช้ชีวิตส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อและการให้คุณค่าในเรื่องอิทธิพลความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เนื่องจากผู้สูงอายุมีความเชื่อเรื่องหลักกรรม และถือได้ว่าหลักกรรมมีผลต่อพฤติกรรมทางสังคมและจิตใจของผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุยอมรับกับสภาพที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันได้เป็นอย่างดี พยายามที่จะทำความดี ละเว้นความชั่ว และจากการผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนานทำให้ผู้สูงอายุได้เรียนรู้ และมีประสบการณ์ต่างๆนานา เหล่านี้เองทำให้ผู้สูงอายุเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตัวในสถานการณ์ต่างๆได้ดี ความเชื่อเรื่องหลักกรรมยังสามารถช่วยยกระดับสุขภาพจิตของผู้สูงอายุอีกด้วยเพราะทำให้ผู้สูงอายุเข้าใจในชีวิตของตนเองมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการมีความเชื่อเรื่องหลักกรรมทำให้ผู้สูงอายุสามารถยอมรับต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนเองและสังคมรอบข้างได้เป็นอย่างดีอีกด้วย